เป็นที่รับรู้กันมานาน กระเทียม มีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด ลดไขมันเลว (LDL) ลดคอเลสเทอรอลต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย แก้ปัญหาโรคกระเพาะเรื้อรัง สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพราะมีสารจำพวกอัลลิซิน (Allicin) แต่การนำกระเทียมมาใช้ประกอบอาหาร ต้องผ่านการทุบให้แตก จะผ่านความร้อนในกระทะ ทำให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ระเหยหายไปเกือบหมด ส่งผลให้เกิดการแปรรูปทำเป็นกระเทียมแคปซูล และกระเทียมอัดเม็ดเพื่อเป็นอาหารบำรุงร่างกาย

ผศ.ดร.ฐิติพรรณ ฉิมสุข อาจารย์ภาควิชาเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยว่า แต่เมื่อนักโภชนาการนำกระเทียมแคปซูล และกระเทียมอัดเม็ดที่วางจำหน่ายในท้องตลาด มาทำการตรวจวิเคราะห์กลับพบว่ามีสารกันบูด สารเคมีที่เป็นพิษปนเปื้อนรวมอยู่ด้วย เนื่องจากตัวแคปซูลที่บรรจุผงกระเทียมมีส่วนผสมของสารกันบูด กระบวนการผลิตใช้วิธีสับกระเทียม นำไปตากแดดทำให้มีการปนเปื้อนของฝุ่นละอองทำให้เกิดเชื้อราตามมา และเมื่อบดเป็นผงแล้ว แป้งที่นำมาผสมเพื่ออัดเม็ด ยังมีส่วนผสมของสารเฮกเซน เอทิลอะซีเตต และอะซีโตน เลยเป็นเหตุให้กระเทียมอัดเม็ดทั่วไปปนเปื้อนสารเคมี

...

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้ศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยร่วมกับภาคเอกชน นำเครื่องจักรระบบปิดมาใช้ในการผลิต โดยนำกระเทียมโทนมาสับละเอียดโดยไม่ผ่านการใช้ความร้อน และน้ำผึ้งมาเป็นส่วนผสม เพื่อช่วยให้เกิดสารอัลลิซินออกมามากกว่าปกติ และในการอัดเม็ดได้นำผงลูกเดือยมาผสมเพื่อให้ผงกระเทียมจับตัวเม็ดไม่แตกยุ่ย แทนการใช้แป้งแบบเดิมๆ...วิธีการนี้เลยทำให้กระเทียมอัดเม็ดไม่มีสารเคมีใดๆมาปนเปื้อน

หลังจากใช้เวลาศึกษามานาน 3 ปีจนสำเร็จ ผศ.ดร.ฐิติพรรณ จึงได้ร่วมกับ ผศ.ดร.รวิวรรณ วงศ์ภูมิชัย ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำกระเทียมอัดเม็ดแบบ ใหม่ไปทดลองกับผู้ป่วยโรคตับ โรคมะเร็ง เป็นเวลา 2 ปี พบว่าช่วยให้ผู้ป่วยทุเลาอาการลงได้
จากความสำเร็จนี้ สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและการประดิษฐ์ไทย จึงส่งผลงานชิ้นนี้เข้าประกวดในงาน EUROINVENT 2018 at Palace of Culture, IAS ROMANIA ณ ประเทศโรมาเนีย ได้รับรางวัลที่ 1 ของงาน และอีก 12 รางวัล ประเภทอาหารจากต่างประเทศ.