ชาวบ้านกว่า 4 ล้านคนในรัฐอัสสัมของอินเดีย จ่อเป็นคนไร้สัญชาติ หลังพวกเขาไม่มีชื่อในบัญชีพลเมืองฉบับล่าสุด ที่มุ่งปราบผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อ 30 ก.ค. รัฐบาลรัฐอัสสัม ของอินเดียเผยแพร่ร่าง ‘บัญชีพลเมืองแห่งชาติ’ (NRC) ซึ่งเป็นรายชื่อของคนที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มาอาศัยอยู่ในรัฐอัสสัมภายในวันที่ 24 มี.ค. 2514 หรือ 1 วันก่อนที่บังกลาเทศจะประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากอินเดีย โดยมีเป้าหมายเพื่อระบุตัวผู้อพยพชาวบังกลาเทศที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและแฝงตัวยู่ในชุมชนชาวเบงกาลีในอัสสัม

แต่จากผู้ขอลงทะเบียนทั้ง 32.9 ล้านคน มีเพียง 28.9 ล้านคนที่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองรัฐอัสสัม ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 4 ล้านคนไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี เรื่องนี้จะทำให้พวกเขาต้องถูกเพิกถอนสัญชาติอินเดีย ตามความตกลงอัสสัม ที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี ราชีฟ คานธี เมื่อปี 2528 และมีโอกาสถูกเนรเทศ หรือตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากกลุ่มต่อต้านผู้อพยพเข้าเมือง ซึ่งกำลังเป็นกระแสในอัสสัมอยู่ตอนนี้ คล้ายกรณีของชาวโรฮีนจา ในประเทศเมียนมาที่ถูกแบ่งแยกและไม่ได้รับสัญชาติเพราะถูกมองว่าเป็นผู้อพยพจากบังกลาเทศ

ผู้คนจำนวนมากเข้าคิวรอตรวจสอบชื่อของตัวเองในบัญชี NRC
ผู้คนจำนวนมากเข้าคิวรอตรวจสอบชื่อของตัวเองในบัญชี NRC

...

ด้านทางการรัฐอัสสัมยืนยันว่า จะไม่มีใครถูกเนรเทศในทันทีและจะมีกระบวนการยื่นอุทธรณ์สำหรับทุกคนที่ต้องการ แต่เรื่องนี้หมายความว่าชาวบ้านหลายล้านชีวิตในรัฐอัสสัมจะไม่มีสัญชาติแน่ชัดเจนกว่าจะมีการตัดสินขั้นสุดท้าย และอาจต้องสูญเสียสิทธิ์ต่างๆ ในฐานะพลเมืองอินเดียที่พวกเขาเคยมีไปทั้งหมด

ทั้งนี้ หลังจากบังกลาเทศประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากอินเดียในวันที่ 26 มี.ค. 2514 ประชาชนจำนวนหลายล้านคนอพยพจากบังกลาเทศเข้าสู่ประเทศอินเดีย จุดชนวนให้เกิดสงครามระหว่างทั้งสองฝ่าย ผลสุดท้ายผู้อพยพจำนวนมากจึงลงหลักปักฐานในรัฐอัสสัมที่มีชายแดนติดกับบังกลาเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องสัญชาติเป็นประเด็นตึงเครียดในรัฐอัสสัมมานานหลายทศวรรษ และเริ่มมีกระแสกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นปี 2561 หลังจากรัฐบาลพยายามจัดการกับชาวมุสลิม ‘เบงกาลี’ และชาวต่างชาติ ที่อพยพเข้ามาโดยผิดกฎหมายอย่างถอนรากถอนโคน

ชาวบ้านนำเอกสารมาตรวจสอบรายชื่อในบัญชี NRC
ชาวบ้านนำเอกสารมาตรวจสอบรายชื่อในบัญชี NRC

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลอัสสัมเรียกเสียงต่อต้านจากหลายฝ่าย เช่นนาย อนันด์ ชาร์มา หัวหน้าพรรคคองเกรสแห่งชาติ กลุ่มฝ่ายค้านหลักของอินเดีย กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือในกระบวนการทำบัญชีนั้นน่าสงสัย ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนระบุว่า บัญชี NRC กำลังถูกกลุ่มชาตินิยมฮินดูและกลุ่มอนุรักษ์นิยมชาวอัสสัมใช้เป็นข้ออ้างให้การโจมตีชุมชนเบงกาลี ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ขณะที่นาย นาซรุล อาลี อาห์เหม็ด นักรณรงค์ชาวเบงกาลี เชื่อว่า ตอนนี้ NRC กำลังถูกใช้เพื่อเล่นงานชาวมุสลิม “พวกเขาขู่จะจัดการชาวมุสลิอย่างเปิดเผย สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาในเมียนมา ก็อาจเกิดขึ้นกับเราที่นี่ได้”