หนีตาย–ชาวบ้านปีนขึ้นไปหลบภัยบนหลังคาบ้านที่ถูกน้ำท่วมเกือบจมมิด หลังสันเขื่อนดินของเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ “เซเปียน–เซน้ำน้อย” ที่ อ.สะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ทางภาคใต้ สปป.ลาวแตก มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ศพ สูญหายกว่า 130 คน (รอยเตอร์)
“7 วันรอบโลก” สัปดาห์ที่แล้ว พูดถึงการประชุมสุดยอดสื่อมวลชน “กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง” (MLC) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งรัฐบาล สปป.ลาวกับหนังสือพิมพ์ “ประชาชนรายวัน” (พีเพิล’ส์ เดลี่) สื่อหลักของรัฐบาลจีนเป็นเจ้าภาพร่วม
สัปดาห์นี้ว่าจะโม้ต่อเรื่อง สปป.ลาว ก็พอดีมีข่าวสันเขื่อนดิน “แซดเดิล แดม ดี” ของเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ “เซเปียน–เซน้ำน้อย” ที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของ สปป.ลาว แตกเมื่อ 23 ก.ค. หลังก่อสร้างได้ราว 90% เพราะเจอฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ทำให้น้ำกว่า 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่าๆกับสระว่ายน้ำโอลิมปิกกว่า 2 ล้านสระ ไหลบ่าท่วมหลายหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก
ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับชาว สปป.ลาว ผู้สูญเสีย และขอถือ โอกาสนี้พูดถึงเรื่อง “เขื่อน” ที่เป็นหัวใจในการพัฒนาชาติลาวยุคใหม่ครับ!
เขื่อน “เซเปียน-เซน้ำน้อย” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 5 แห่งริมแม่น้ำห้วยหมากจัน, เซน้ำน้อย และเซเปียน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในแขวงอัตตะปือและจำปาสัก มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 38,400 ล้านบาท) ของกลุ่มบริษัท “เซเปียน-เซน้ำน้อย พาวเวอร์” (พีเอ็นพีซี)
ซีเอ็นพีซี เป็นบริษัทร่วมทุน 3 ชาติ ระหว่างบริษัทของรัฐบาล สปป.ลาว และบริษัท “ราชบุรี โฮลดิง จำกัด (มหาชน)” หรือ RATCH ของไทย กับบริษัทเกาหลีใต้อีก 2 บริษัท คือ “เอสเค เอนจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” และ “โคเรีย เวสเทิร์น พาวเวอร์” เขื่อนทั้ง 5 แห่ง เมื่อสร้างเสร็จจะส่งออกไฟฟ้าราว 90% มาที่ไทย โดยซีเอ็นพีซีจะบริหารจัดการโครงการนี้ 27 ปี ส่วนเขื่อน “เซเปียน-เซน้ำน้อย” มีกำหนดสร้างเสร็จและผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562 โดยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 410 เมกะวัตต์
...
แม้ชาวลาวมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรมและเหมืองแร่ โดย 80% ทำการเกษตร ส่วนใหญ่ปลูกข้าว แต่หลายปีหลัง รัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งมีประชากรราว 6.7 ล้านคน และเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล แต่โชคดีมีแม่น้ำโขงเป็น “เส้น เลือดใหญ่” มีเครือข่ายสาขาแม่น้ำโขงมากมาย หันมาเน้นสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอย่างมุ่งมั่น โดยตั้งเป้าให้ สปป.ลาวเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ซึ่งมีหลายประเทศเข้าไปร่วมลงทุน โดยเฉพาะไทยและจีน
จากข้อมูลของสำนักข่าวลาว (Laos News Agency) ในปี 2560 ลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ดำเนินการแล้วถึง 46 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือวางแผนอีก 54 แห่ง โดยมีแผนให้แล้วเสร็จดำเนินการได้ครบ 100 แห่ง ในปี 2563 หรือ 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 28,000 เมกะวัตต์ มากกว่าปัจจุบันเท่าตัว และไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกขายให้ต่างประเทศถึง 85%
สปป.ลาวเคยลงนามในบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) ผลิตไฟฟ้าให้ไทย 1,500 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2536 เท่าที่ผ่านมา ลาวส่งออกไฟฟ้าถึง 2 ใน 3 ของที่ผลิตได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่ขายให้ไทยและจีน และไฟฟ้ามีมูลค่าถึง 30% ของการส่งออกทั้งหมด โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นแหล่งรายได้อันดับ 1 ของประเทศในปี 2568
แต่ขณะที่ลาวเร่งสร้างเขื่อนตามแม่น้ำสาขาต่างๆของแม่น้ำโขง เช่น เขื่อน “น้ำเทิน 2” ซึ่งธนาคารโลกให้ทุนสร้างและเปิดในปี 2553 ลาวก็ถูกต่อต้านเมื่อจะสร้างเขื่อนตามแม่น้ำโขงเอง โดยเฉพาะจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างอื่นๆ และกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพราะหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงหลายสิบล้านคน
กระแสต่อต้านทำให้ สปป.ลาวต้องระงับโครงการสร้างเขื่อน “ไซยะบุรี” ในปี 2555!
ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์หลายพันสปีชีส์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการสร้างเขื่อนที่ไปปิดกั้นการไหลของน้ำตามธรรมชาติ นิตยสาร “ดิ อีคอโนมิสต์” ระบุว่าในปี 2557 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม ผลิต “ข้าว” ได้ถึง 15% ของทั้งโลก แต่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ระบุว่า การสร้างเขื่อนทำให้ผลผลิตข้าวและพันธุ์ปลาลดลง ความอุดมสมบูรณ์ของดินก็ลดลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อ “ความมั่นคงด้านอาหาร” และทำให้ “อัตราความยากจน” ของประชาชนตามลุ่มน้ำโขงสูงขึ้นด้วย
ฝ่ายต่อต้านยังเตือนมาตลอดถึงเรื่อง “ความปลอดภัย” ในการสร้างเขื่อนว่าได้มาตรฐานปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ยิ่งหลังเขื่อนแตกครั้งนี้ กระแสถกเถียงเรื่องนี้จะยิ่งร้อนแรง โครงการสร้างเขื่อนต่างๆอาจถูกเพ่งเล็งต่อต้านมากขึ้น
...
อย่างไรก็ตาม รายได้หลักจากการขายไฟฟ้า และการลงทุนจากต่างชาติ มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของ สปป.ลาวเติบโต จนปีที่แล้ว “จีดีพี” ของ สปป.ลาวขยายตัวถึง 6.89% ติดอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก และคาดว่าปีนี้จีดีพีจะขยายตัวถึง 7%
จากสถิติด้านการลงทุน บริษัท “จีน” เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวมากที่สุดกว่า 765 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 224,000 ล้านบาท) รองลงมาคือ เวียดนามและไทย ซึ่งนอกจากการลงทุนในภาคเกษตรกรรม เหมืองแร่ การท่องเที่ยว ก็มีภาคการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอย่างมากมายด้วย
โศกนาฏกรรม “เขื่อนแตก” ครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เรื่องการสร้างเขื่อนใน สปป.ลาวไม่น้อย ขณะที่ปีนี้เป็น “ปีท่องเที่ยวลาว” พอดี โดยมีคำขวัญว่า “งามแท้ๆ” (Simply Beautiful)
แต่นโยบาย “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” คงเดินหน้าต่อไป เพราะไปไกลเกินกว่าจะวกกลับแล้ว!
บวร โทศรีแก้ว