ภาพมวลน้ำมหาศาลไหลบ่าทะลักท่วม 7 หมู่บ้าน ของอำเภอสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ในสปป.ลาว อย่างรวดเร็ว ระดับน้ำสูงจนเกือบมิดหลังคา หลังจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก เมื่อคืนวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ชาวลาว ตลอดจนผู้คนชาวโลกต้องอกสั่นขวัญแขวน ตื่นตระหนกตกใจหวาดกลัวอย่างยิ่ง

เพราะนอกจากจะเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ ที่ทำให้ชาวลาวเสียชีวิตอย่างน้อย 26 ราย ยังสูญหายอีก 131 คน บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ผู้คนราว 6,600 คน ได้รับความยากลำบาก-เดือดร้อนแสนสาหัส กลายเป็นคนไร้บ้านแล้ว

คำถามที่หวาดหวั่นพรั่นพรึงตามมา ก็คือ มีความเสี่ยงที่เขื่อนในลาวจะแตก เกิดภัยพิบัติเช่นนี้อีกหรือไม่ในอนาคต??

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย
เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

*ลาวตั้งเป้าเป็น ‘แบตเตอรี่’ แหล่งผลิตไฟฟ้าแห่งเอเชีย

ทราบกันดี รัฐบาลสปป.ลาว ได้กำหนดนโยบาย ตั้งเป้าหมายที่จะให้ประเทศลาวเป็น ‘Battery of Asia’ เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งเอเชีย ด้วยความที่ลาว ยังเป็นประเทศยากจน ประกอบกับไม่มีอาณาเขตติดกับทะเล ขณะที่ภูมิประเทศมีแต่ขุนเขา และแม่น้ำหลายสาย ด้วยเหตุนี้ ทางการสปป.ลาวจึงเร่งสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นเป็นจำนวนมาก หมายมั่นปั้นมือให้เป็นแหล่งรายได้หลัก นำพาประเทศให้พ้นจากความยากจน ด้วยการขายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย โดยเฉพาะไทย และเวียดนาม

...

*หนึ่งใน 70 โรงไฟฟ้าพลังน้ำของลาว

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (hydropower plants ) 70 แห่ง ที่มีแผนจะสร้างขึ้นใน สปป.ลาว หรือรวมถึงที่สร้างขึ้นและดำเนินการแล้ว โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว ส่วนใหญ่นั้น เจ้าของหรือผู้ดำเนินการ ล้วนแต่เป็นบริษัทเอกชนจากต่างชาติ โดยเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ประกอบด้วยเขื่อนหลัก 3 เขื่อน ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาขาย่อยจากแม่น้ำโขง และยังมีเขื่อนดินย่อยอีกหลายเขื่อน รวมทั้งเขื่อนย่อยที่สันเขื่อนแตก และทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลทะลักท่วมพื้นที่ด้านล่าง

บริษัท บริษัท SK Engineering & Construction (บริษัท เอสเค เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) ในเกาหลีใต้ ซึ่งมีส่วนร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างเขื่อนดิน เซเปียน-เซน้ำน้อย ระบุสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตกว่า เป็นเพราะเขื่อนทรุด โดยพบรอยรั่วกลางฐานเขื่อน ก่อนเขื่อนแตก 3 วัน เพราะฝนตกหนักต่อเนื่อง 

*กลุ่มNGO ‘อินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ส’ ค้านมาตลอด

ท่ามกลางความมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว ด้านกลุ่ม International Rivers (อินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ส) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงกำไรระหว่างประเทศ ที่ต่อสู้เรียกร้องด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแม่น้ำและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ในหลายประเทศ รวมทั้งไทย ได้พยายามคัดค้านนโยบายของรัฐบาลลาวที่เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นในประเทศอย่างรวดเร็ว

หลังจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 23 ก.ค.2561 กลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ส ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางออนไลน์ ชี้ถึงเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จากอิทธิพลของพายุมรสุมว่า ภัยพิบัติครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า มีเขื่อนจำนวนมากที่ถูกออกแบบ โดยไม่ได้รองรับสำหรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว อย่างเช่น การเกิดฝนตกหนัก เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา

‘สภาพอากาศที่ไม่อาจคาดการณ์ได้และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้ว กำลังกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างย่ิงถึงประชาชนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อนหรือเส้นทางน้ำที่ไหลจากเขื่อน’ กลุ่ม อินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ส ระบุด้วยความกังวล พร้อมชี้ว่าตามรายงาน ชาวลาวที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย มีเวลาเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น หลังได้รับการแจ้งเตือนให้อพยพ ก่อนเขื่อนจะแตก

ภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานอวกาศยุโรป แสดงให้เห็นปริมาณน้ำ ก่อน-หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก
ภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานอวกาศยุโรป แสดงให้เห็นปริมาณน้ำ ก่อน-หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก

...

*ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างเพียงพอ

แถลงการณ์จากกลุ่ม อินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ส ระบุด้วยว่า ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ด้านใต้เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน โดยเหตุการณ์เขื่อนแตกในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดคำถามใหญ่ขึ้นเกี่ยวกับ มาตรฐาน และความปลอดภัยของเขื่อนในลาว รวมถึงการจัดการกับปัจจัยด้านสภาพอากาศและความเสี่ยงต่างๆอย่างมีความเหมาะสมด้วย

...

*หวั่นเคลียร์พื้นที่หลังน้ำลด อาจเจอลูกระเบิดเก่า

ขณะที่เว็บไซต์ นิวยอร์ก ไทม์ส ในสหรัฐฯ ยังรายงานความเห็นของมาร์ค ฮิซเนย์ ผู้อำนวยการฝ่ายติดตามเรื่องอาวุธ ของกลุ่มฮิวแมน ไรท์ วอช ที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตัน ได้กล่าวด้วยความกังวลถึงการเก็บกวาดซากปรักหักพังในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกว่า อาจเกิดความซับซ้อนมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย อาจมีลูกระเบิดเก่าของกองทัพสหรัฐฯ รวมทั้งมีกับระเบิดฝังอยู่ ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม

สำหรับแขวงอัตตะปือ ทางภาคใต้ของสปป.ลาว มีชายแดนติดกับเวียดนาม และกัมพูชา จึงอาจมีลูกระเบิดและกับระเบิดเก่าที่ถูกฝังอยู่มานานตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม และเรื่องที่น่าวิตกอีกก็คือ ชาวบ้านที่ไปเจอระเบิดอาจสงสัยว่ามันคืออะไร จนทำให้ระเบิดอาจระเบิดขึ้นได้

...


*‘น้ำกำลังมา’ ไหลซู่แรงดังสนั่นราวเสียงระเบิด

หนึ่งในผู้ประสบภัยเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก เล่าถึงนาทีที่เธอและครอบครัวต้องหนีน้ำที่ไหลทะลักจากเขื่อนแตก อย่างสุดชีวิตว่า เธอได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงระเบิดดังมาจากระยะไม่กี่กิโลโมตร ทันใดนั้นก็เกิดเสียงประหลาดตามมา เหมือนกับเสียงลมพัดแรง ทำให้เธอรู้ทันทีว่า ‘น้ำกำลังมา’ เนื่องจากมีการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ใกล้ๆ หมู่บ้านที่เธออยู่

สาวชาวลาวผู้นี้ บอกว่า เธอได้รีบไปเคาะประตูบอกเพื่อนบ้าน ให้รีบหนีน้ำขึ้นที่สูง เพราะน้ำกำลังมาแล้ว และภายในเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น น้ำก็ไหลบ่าท่วมหมู่บ้านของเธอสูงกว่า 10 เมตร โชคดีที่เธอและเพื่อนบ้านหนีภัยพิบัติครั้งนี้มาได้ แต่คนอื่นๆ อาจ ไม่โชคดี หนีน้ำไม่ทัน จนน่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง...

อ่านข่าว