ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะทำงาน ได้ร่วมทำสัญญาความร่วมมือครั้งที่ 2 องค์กรวิชาชีพกายอุปกรณ์สากล.
ผลิตนักกายอุปกรณ์ช่วยคนพิการประเทศด้อยพัฒนา
โลกใบนี้ยังมีคนที่มีความต้องการอุปกรณ์ช่วยความพิการต่างๆ อีกจำนวนมาก แต่คนที่ผลิตอุปกรณ์ช่วยคนพิการเหล่านี้ยังมีน้อยมาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร จึงได้อนุมัติหลักสูตรกายอุปกรณศาสตรบัณฑิตนานาชาติ เป็นหลักสูตรเรียนทางไกลผสมผสาน เพื่อพัฒนาช่างอุปกรณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีผู้สำเร็จไปแล้ว 2 รุ่น โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจัดงานมอบใบรายงานผลการศึกษาแก่บัณฑิตนักกายอุปกรณ์ จำนวน 9 คน ที่สำเร็จหลักสูตรกายอุปกรณศาสตรบัณฑิตนานาชาติ ประจำปี 2560 รุ่นที่ 2 พร้อมทั้งได้มีการร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือครั้งที่ 2 องค์กรวิชาชีพกายอุปกรณ์สากล ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์
โอกาสนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวว่า การผลิตอุปกรณ์ช่วยคนพิการเหล่านี้ยังมีน้อยมาก ที่สำคัญถ้าผลิตตามอัตราเดิมรูปแบบปกติ 400 ปีกว่าจะได้ครบ ดังนั้นในปี 2556 ม.มหิดล จึงได้อนุมัติหลักสูตรกายอุปกรณศาสตรบัณฑิตนานาชาติ เป็นหลักสูตรเรียนทางไกลผสมผสานขึ้น โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับ Human Study e.V และ ISPO เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตกายอุปกรณ์กลับไปเป็นครูถ่ายทอดการเรียนการสอนและผลิตบุคลากรด้านนี้ให้มากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาที่ยังขาดแคลน ซึ่งครั้งนี้ได้มีการลงนามขยายระยะความร่วมมือต่อเนื่องไปอีก 5 ปี
...
ด้าน รศ.พญ.นิศารัตน์ โอภาสเกียรติคุณ ผอ.ร.ร.กายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า หลักสูตรนี้จะต้องเรียนผ่านระบบทางไกล แต่มีระยะเวลามาฝึกภาคปฏิบัติและทดสอบที่โรงเรียนด้วย ส่วนใหญ่ผู้เรียนจะจบระดับประกาศนียบัตรและถ่ายโอนบางหน่วยกิตเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งจะใช้เวลาเรียนประมาณ 3 ปี นักศึกษารุ่นแรกที่จบไปแล้ว 7 คน มาจากประเทศแถบบอลข่าน ส่วนรุ่น 2 นี้มาจากประเทศอัฟกานิสถาน โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศที่สนับสนุนให้นักศึกษาจากประเทศที่ยังเผชิญสถานการณ์ความรุนแรงและมีเหยื่อผู้พิการที่เกิดจากสงครามจำนวนมาก ให้ได้รับการศึกษาสูงขึ้นเพื่อกลับไปเป็นครูสอนในประเทศนั้นๆ รวมถึงพัฒนาบริการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นที่น่ายินดีว่า 2 ใน 9 คนที่สำเร็จการศึกษาเป็นผู้หญิงที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวโดยขาขาดทั้งสองข้าง โดยบริบทของประเทศอิสลาม การที่ผู้หญิงจะเข้าถึงระบบการศึกษาค่อนข้างยากมากอีกทั้งยังเป็นผู้พิการด้วย ซึ่งเป็นที่ปลาบปลื้มมากที่สามารถนำ 2 นักศึกษาหญิงมาเรียนเพื่อกลับไปเป็นครูในประเทศ ขณะเดียวกันเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟสำหรับผู้ชายและผู้หญิงที่จะแตะต้องตัวบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ ดังนั้นการที่ผู้หญิงพิการจะได้รับบริการการรักษาจึงค่อนข้างจำกัด เพราะต้องเป็นผู้หญิงด้วยกันที่จะให้บริการได้ ทั้งที่ที่ผ่านมาจะเป็นผู้ชายส่วนใหญ่ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษามากกว่า จึงเป็นสิ่งที่ดีมากที่ผู้หญิงจะได้รับการศึกษาและกลับไปถ่ายทอดผ่านการเป็นครูให้กับหญิงคนอื่นๆ เพื่อให้บริการรักษากับผู้หญิงด้วยกัน สำหรับนักศึกษารุ่นที่ 3 ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ 8 คนมาจากสาธารณรัฐโตไก 1 คน สาธารณรัฐมาลาวี 1 คน และสาธารณรัฐตูนิเซีย 6 คน
ส่วนหนึ่งในสองบัณฑิตสาวชาวอัฟกานิสถาน “มาบีเค ซิดีคีย์” ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ Kubul Orthpedic Organization ได้เปิดเผยว่า ตนเรียนหลักสูตรนี้มา 5 ปี ที่สนใจส่วนหนึ่งมาจากการสูญเสียขาของตนในวัยเด็ก และด้วยข้อห้ามทางศาสนา ห้ามสัมผัสมือและร่างกายระหว่างเพศตรงข้าม ยกเว้นคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิด ทำให้ผู้หญิงที่มีความพิการมีความยากลำบากในการเข้ารับการบริการในโรงพยาบาลด้านกายบำบัด เพราะมีนักกายอุปกรณ์ผู้หญิงจำนวนน้อย ตนจึงอยากเรียนหลักสูตรนี้เพื่อนำความรู้ไปเผยแพร่แก่ผู้หญิงคนอื่นในคาบูที่สนใจ รวมทั้งให้การช่วยเหลือผู้หญิงที่เจ็บป่วยในอัฟกานิสถานด้วย.