แชร์กันสนั่นไลน์ถึงข่าวอาจารย์แพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปประชุมที่มาเลเซีย และเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งแขนขา ถึงขนาดต้องเอาเครื่องบินพิเศษไปรับ หลังถูกยุงลายกัด จนเกิดข่าวลือแพร่สะพัดต่อมาว่าอาจเป็นการติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากลัวและอันตรายกว่าเดิม

แต่ล่าสุด ยืนยันจากอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่มีเพียงไข้เลือดออกสายพันธุ์เดิมที่เกิดจากไวรัสเดงกี่ ที่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี่ 1, 2, 3 และ 4 และไข้เลือดออกที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ ไข้เลือดออกชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และ ไข้เลือดออกจากการติดเชื้อไวรัสซิกา เท่านั้น

ซึ่งเป็นไข้เลือดออก 3 ชนิดที่กรมควบคุมโรคให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วย กลยุทธ์ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

“จากที่ได้ข้อมูลทราบว่าอาการที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ว่าเป็นไข้เลือด ออกสายพันธุ์ใหม่นั้น คือ ผู้ป่วยเริ่มจากมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ตัวร้อนเป็นช่วงๆมีอาการไข้หลบ คือ บางช่วงไม่มีไข้เป็นพักๆ และถ้าปล่อยไว้นานถึง 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการสายตาพร่ามัว ไม่สู้แดด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทานอาหารได้น้อยลง วิงเวียนศีรษะตลอดเวลา เบลอ และตัวจะเริ่มเป็นจ้ำ หลังจากนั้น จะเริ่มมีไข้ขึ้นสูง เกล็ดเลือดต่ำ หัวใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลันและอาจถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวได้”

...

นพ.สุวรรณชัย บอกว่า จากข้อมูลทางการแพทย์ อาการที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นอาการในกลุ่มที่เรียกว่า GBS หรือกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillain Barre syndrome) โรคที่ค่อนข้างเฉียบพลันและอันตราย โดยหนึ่งในสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยคือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ก็มีบ้างที่เป็นกลุ่มไวรัสเดงกี่ ไวรัสซิกา ไวรัสในกลุ่มไข้สมองอักเสบเจอี รวมทั้งกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีผลต่อการเกิดอาการ GBS ได้ทั้งสิ้น

“ยืนยันว่าไม่ใช่ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่แน่นอน แม้ว่าในปีนี้ การระบาดของโรคไข้เลือดออกจะมีแนวโน้มสูงขึ้น มีผู้ป่วยแล้วถึง 28,732 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 37 ราย” อธิบดีกรมควบคุมโรคบอก

ทั้งนี้ในปีนี้ ไข้เลือดออก ถือเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานสำรวจ กำจัดยุงลาย ลดป่วยลดตายด้วยโรคไข้ เลือดออก ใช้กิจกรรมรณรงค์ “อาสาปราบยุง ควบคุมโรคไข้เลือดออก : ทุกบ้าน ทุกชุมชน ทุกพื้นที่” หลังจากพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น และหน่วยงานสาธารณสุขเพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถควบคุมยุงลายได้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายในการป้องกันและปราบยุงลายเริ่มจากกระทรวงสาธารณสุข และจะขยายไปทุกหน่วยงานทั่วประเทศ ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย “6ร” ได้แก่ โรงเรียน โรงแรม โรงงาน โรงพยาบาล โรงเรือน และโรงธรรม เพื่อลดไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิน 10,000 ราย ในอีก 2 เดือนต่อจากนี้ และไม่ให้เกิน 10,000 รายเมื่อสิ้นปี 2561 รวมทั้งควบคุมยุงพาหะให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนไม่เกินร้อยละ 5 และไม่พบลูกน้ำยุงลายในสถานที่สาธารณะ รวมทั้งให้มีการสื่อสาร ความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

...

รองนายกรัฐมนตรี ยังได้ให้นโยบายด้วยว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ให้ทุกจังหวัด จัดรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินระดับอำเภอในพื้นที่ระบาดและพื้นที่เสี่ยง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สนับสนุนงบประมาณ โดยใช้งบกองทุนสุขภาพตำบล และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำประชาชนเป็นอาสาปราบยุง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในสถานที่สาธารณะ สถานที่ราชการ และบ้านเรือนประชาชน ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียนทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดูแลสิ่งแวดล้อม ห้องสุขาของสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลักในการควบคุมการระบาดและการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งขอให้กระทรวงกลาโหม ดำเนินการให้พื้นที่ทหารเป็นเขตปลอดลูกน้ำยุงลายและสนับสนุนกำลังคนในการควบคุมป้องกันโรคตามคำขอของพื้นที่ด้วย

...

ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปีนี้การระบาดของไข้เลือดออก น่าจะคล้ายปี 2558 ที่มีการระบาดสูงมาตั้งแต่ต้นปี โดยพบผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายนและพฤษภาคม เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนอายุ 5-14 ปี แต่ผู้เสียชีวิตเป็นวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยตายสูงกว่าเด็ก 2-5 เท่า นอกจากนี้ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่าค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนสูงถึง 30% และอัตราการพบลูกน้ำในภาชนะน้ำขังในวัดอยู่ที่ 58% โรงเรียน 41% และโรงพยาบาล 23% แสดงให้เห็นว่าแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายยังมีอยู่มากในชุมชนและสถานที่สำคัญที่มีประชาชนมารวมตัวกันจำนวนมาก เป็นความเสี่ยงที่โรคไข้เลือดออกจะแพร่กระจายต่อเนื่องและขยายวงกว้างทั่วประเทศไทยได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนร่วมมือกันป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไม่ควรตื่นตระหนกกับข้อมูลที่แชร์กันในไลน์และโซเชียล มีเดีย จนถึงขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด.