แม่โคนมผ่านการรีดนมมา 3–5 ปี ให้น้ำนมไม่คุ้มต้นทุนค่าอาหารเริ่มถูกคัดทิ้ง จำหน่ายแม่โคนมปลดระวางออกจากฟาร์มให้โรงเชือดในชุมชน...พ่อค้ามักใช้วิธีประเมินราคาด้วยตา เหมาจ่ายให้เกษตรกรราคาต่ำ
“ปกติการเลี้ยงโคนมในช่วงรีดนมต้องควบคุมเลี้ยงแม่โคไม่ให้อ้วนมาก ไม่อย่างนั้น การผสมพันธุ์จะ ติดลูกยาก ดังนั้นเมื่อถึงเวลาปลดระวางรูปร่างแม่โคนมจึงผ่ายผอม ทรุดโทรม พ่อค้ามักประเมินให้ราคาต่ำ ด้วยคิดว่าเนื้อแม่โคนมปลดระวางเหนียว
ทั้งที่คุณภาพเนื้อแม่โคคัดทิ้งเทียบได้กับโคขุนและอาจดีกว่า เพราะตลอดช่วงการรีดนม แม่โคจะถูกเลี้ยงด้วยอาหารและดูแลสุขภาพอย่างดี และเป็นโคสายพันธุ์มาจากยุโรป คุณภาพซากเนื้อจึงนุ่มต่างจากโคสายพันธุ์อเมริกาที่มีโหนกหลัง ยิ่งอายุมากคุณภาพซากเนื้อจะเหนียว”
ผศ.ธนนันท์ ศุภกิจจานนท์ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้ข้อมูล...ฟาร์มโคนมในแถบยุโรปที่ขายแม่โคปลดระวางจะได้ราคาดี เพราะมีการดูแลขุนเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เนื้อแม่โคมีไขมันแทรกไม่ต่างจากโคขุน ชำแหละออกมาแล้วเนื้อมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดระดับบน
...
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาการจัดการเชิงระบบเพื่อผลิตเนื้อโคคุณภาพจากโคนมคัดทิ้ง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย
ทดลองขุนแม่โคคัดทิ้งในภาคเหนือ ที่สหกรณ์โคนมแม่วาง จ.เชียงใหม่ และสหกรณ์โคนมทีเค จ.ลำพูน โดยใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับโคขุนที่มีโปรตีน 19% ร่วมกับหญ้าเนเปียร์ปากช่อง ขุนแม่โคคัดทิ้งนาน 4เดือน...จากน้ำหนักเฉลี่ยเดิมอยู่ที่ 470 กก. เพิ่มเป็น 590กก.
และทดลองในพื้นที่ภาคกลางกับโคนมของ วรศิลป์ ฟาร์ม จ.ประจวบคีรีขันธ์และเอ็นแอนด์เอ็นฟาร์ม จ.นครปฐม ใช้สูตรอาหารสำเร็จรูปสำหรับโคขุน โปรตีน 17% ร่วมกับ เปลือกข้าวโพด และเปลือกสับปะรดระยะ เวลา 4 เดือน...จาก น้ำหนักเฉลี่ยเดิม 450 กก. เพิ่มเป็น 558 กก.
ผศ.ธนนันท์ เผยถึงผลการ นำแม่โคในโครงการฯที่ขุนเลี้ยงมานาน 4 เดือนไปชำแหละ ปรากฏผล เนื้อแม่โคคัดทิ้งคุณภาพเทียบเท่าโคขุน...ทั้งในเรื่องความนุ่ม ที่ใช้เวลาเคี้ยว 6-7 ครั้งสามารถย่อยให้ละเอียดได้ ในขณะที่เนื้อทั่วไปต้องใช้แรงเคี้ยว 10-20 ครั้ง ส่วนเรื่องไขมันแทรก แม่โคนมยิ่งแก่จะยิ่งมีไขมันแทรกมาก ต่างจากโคเนื้อและโคขุน ยิ่งอายุมากไขมันแทรกยิ่งน้อย เลยทำให้เนื้อเหนียวกว่าเนื้อแม่โคนมปลดระวาง
เมื่อหักต้นทุนช่วงขุน 4 เดือน เกษตรกรเหลือกำไรเฉลี่ยตัวละ 15,698.52 บาท
รวมแล้วช่วยให้เกษตรกรขายแม่โค คัดทิ้งได้เฉลี่ยตัวละ 68,600 บาท ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ขายได้เฉลี่ยตัวละ 52,300 บาท.
เพ็ญพิชญา เตียว