กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ดีเดย์ 19 ก.ค.นี้ ผุด 5 กิจกรรมหวังแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นประเทศ ทั้งลด-งดใช้ถุงพลาสติก-กล่องโฟม รวมถึงคัดแยกขยะมูลฝอย จับมือ 20 กระทรวง ข้าราชการ 2.53 ล้านคน ทำให้เป็นแบบอย่าง พร้อมใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงาน รมว.ทส.ระบุลดขยะมูลฝอยได้แค่ร้อยละ 5 ประหยัดงบกำจัดขยะถึงปีละ 17 ล้านบาท กำหนดอุทยานแห่งชาติ 154 แห่ง ชายทะเล 24 จังหวัด รวมถึงสวนสัตว์ทั่วประเทศทั้ง เขาดิน เขาเขียว เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา อุบลราชธานี ขอนแก่น และคชอาณาจักรสุรินทร์ จะเป็นพื้นที่ปลอดถุงพลาสติกหูหิ้ว-โฟมบรรจุอาหาร

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะเป็นหัวหอกนำลดขยะย่อยสลายยากทั้งถุงพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหาร โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส.เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ว่าในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กทม. ทส.จะเปิดตัวโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” อย่างเป็นทางการ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่องโดยเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการลดใช้ถุงพลาสติก และหลีกเลี่ยงการใช้โฟม ทั้งในหน่วยงานราชการ 20 กระทรวง ตลาดสดเทศบาล ห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา รวมไปจนถึงอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ สวนสัตว์ทั้ง 8 แห่ง และพื้นที่ชายหาด 24 จังหวัด เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้มากขึ้น จากสถิติพบว่าประเทศไทยใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 9,750 ล้านใบ ซึ่งพลาสติกและโฟมเหล่านี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล โดยพบว่ามีถุงพลาสติกร้อยละ 18 และโฟมบรรจุอาหารร้อยละ 9 ในขยะทะเลไทย และมีแนวโน้มในการเกิดการรั่วไหลของสารปรุงแต่งหรือสารประกอบที่ใช้ในการผลิตพลาสติกและโฟมที่ใช้บรรจุอาหาร ซึ่งอาจเป็นพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

...

รมว.ทส.กล่าวอีกว่า เพื่อให้แก้ปัญหาเห็นผลเป็นรูปธรรม ทส.จึงร่วมกับภาคราชการทั้ง 20 กระทรวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 5 กิจกรรม คือ 1.มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐของทุกกระทรวงมีการทำกิจกรรมการลด คัดแยกขยะมูลฝอยภายในหน่วยงาน เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนและภาคเอกชน โดยทำพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำหนดให้ “ผลการลดและ คัดแยกขยะมูลฝอย” เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ เริ่มตั้งแต่ปี 2562

รมว.ทส.กล่าวอีกว่า 2.ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก เพื่อส่งเสริมห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสดทั่วประเทศ ลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหาร รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทำกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.นี้ 3.การลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้ง 154 แห่ง โดยไม่นำถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมบรรจุอาหาร น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีแคปซีลเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ และลดใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4.การลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว งดใช้โฟมบรรจุอาหาร และคัดแยกขยะมูลฝอยภายในพื้นที่สวนสัตว์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ทั้งสวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่นและคชอาณาจักรสุรินทร์ และ 5.การจัดการขยะบกสู่ขยะทะเล เพื่อลดปริมาณขยะทะเล ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล

“เบื้องต้นมีเป้าหมายให้ข้าราชการ 2.53 ล้านคน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย เกิดภาพลักษณ์ที่ดี เป็นตัวอย่างในการดำเนินงานให้กับประชาชน ที่สำคัญหากปริมาณขยะมูลฝอยของหน่วยงานภาครัฐลดลงร้อยละ 5 หรือคิดเป็น 11,225 ตันต่อปี จะสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 17 ล้านบาทต่อปี ปริมาณขยะรีไซเคิลที่คัดแยกได้จากหน่วยงานภาครัฐสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 26,632 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งสามารถลดปริมาณพลาสติกถุงหูหิ้ว 4,000 ล้านใบต่อปี ปริมาณโฟมบรรจุอาหาร ลดลง 1,000 ล้านชิ้นต่อปี ปริมาณแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ลดลง 30 ล้านใบต่อปี และปริมาณพลาสติกถุงหูหิ้ว โฟมบรรจุอาหารและแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ลดลงเมื่อนำไปรีไซเคิลก่อให้เกิดรายได้ 2 ล้านบาทต่อปี และหน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการได้ 6 ล้านบาทต่อปี” พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว