เพราะปัจจุบันทางเดินเท้าหลายแห่งในกรุงเทพฯถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ คนเดินต้องคอยหลบรถที่วิ่งไปมา ทั้งที่มีกฎหมายห้ามชัดเจนและมีโทษปรับสูงสุดถึง 5,000 บาท แต่ผู้ฝ่าฝืนก็ไม่ได้เกรงกลัว
เมื่อเร็วๆนี้ กทม.จึงเปิดตัวโครงการ “จุดกวดขัน จับ-ปรับ รถจอดหรือขับขี่บนทางเท้า” นำร่องถนนที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน จำนวน 115 จุด เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดจากผู้ที่ไม่เคารพกฎหมาย “รายงานวันจันทร์” จะไปพูดคุยกับรองผู้ว่าฯ กทม. สกลธี ภัททิยกุล เกี่ยวกับเรื่องนี้
ถาม-ที่มาของโครงการจัดสายตรวจเทศกิจประจำ 115 ถนน
สกลธี-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการให้ประชาชนได้เดินบนทางเท้าสาธารณะได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ประกอบกับที่ผ่านมา กทม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนขับขี่-จอดรถบนทางเท้า กีดขวางทางเดิน จึงมอบหมายให้แต่ละสำนักงานเขตสำรวจถนนที่จะกำหนดให้เป็นถนนนำร่องโครงการ โดย พิจารณาจากมีการฝ่าฝืนเป็นประจำ และได้รับเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมาก
ถาม-โครงการนี้แสดงว่ามาตรการที่ กทม.ดำเนินการก่อนหน้านี้ล้มเหลว
สกลธี-ไม่ถือว่าล้มเหลว และทุกโครงการยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ที่ผ่านมา กทม.ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำตามจุดคอยกวดขัน ป้องปรามไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนขับขี่-จอดรถบนทางเท้า ทำให้ปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน การแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ก็ส่วนหนึ่ง จิตสำนึกประชาชนก็ส่วนหนึ่ง ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์ข้อมูลผู้กระทำความผิดจากภาพถ่ายทะเบียนรถที่มีการนำไปกระทำความผิด หรือภาพจากกล้องซีซีทีวี ทำได้ช้า เพราะ กทม.ต้องรวบรวมส่งไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอความร่วมมือช่วยตรวจสอบผู้ครอบครองรถ ก่อนจะติดตามผู้กระทำความผิดตามข้อมูลที่ได้รับมาดำเนินการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งกระบวนการใช้เวลาค่อนข้างนาน กรณีดังกล่าว สำนักเทศกิจพยายามแก้ไขปัญหา โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้ทำหนังสือประสานไปยังกรมการขนส่งทางบก ขอเข้าใช้ฐานข้อมูลทะเบียนรถ เพื่อช่วยตรวจสอบข้อมูลเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถ และเพื่อความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลของผู้กระทำความผิด ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ปรับมุมกล้องที่อยู่ริมถนน เบื้องต้นจะให้สำรวจและปรับมุมกล้องในเส้นทางที่มีผู้ฝ่าฝืนบ่อยก่อน เพื่อเป็นช่องทางช่วยป้องปรามผู้กระทำความผิด
...
ถาม-กรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการนี้
สกลธี-โครงการนี้จะทำไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดสิ้นสุด และจะมีการประเมินผล ทุกๆ 1 เดือน เพื่อพิจารณาขยายจุดตรวจไปยังพื้นที่อื่นๆด้วย โดยคาดหวังว่า การกระทำความผิดจะลดน้อยลง นอกจากนี้ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต อยู่ระหว่างสำรวจวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ตั้งบนทางเท้ากีดขวางทางเดิน หากพบว่าสามารถย้ายออกจากฟุตปาทได้ให้ย้ายออก หรือถ้าย้ายไม่ได้จริงๆ ก็ให้จอดรถได้ไม่เกิน 5 คัน โดยให้ใช้พื้นที่นี้เป็นจุดจอดรับส่งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ให้จอดแช่ทั้งวัน.