การเคลื่อนไหวของ กลุ่มเอ็นจีโอ และ คปพ. โดยอาศัยโอกาสที่กระแสการเมืองกำลังเข้มข้นจากพลังดูดที่พุ่งเป้าไปที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในบทบาทการขับเคลื่อน แยกบทกันเล่น มาในหลากหลายรูปแบบรวมไปถึง คณะกรรมการในองค์กรอิสระ เป้าหมายคือการปลุกผี บรรษัทพลังงานแห่งชาติ ถึงขั้นฟันธงจะให้รัฐบาลล้มการประมูลแห่งปิโตรเลียม บงกช และเอราวัณ ที่ทาง กระทรวงพลังงาน อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ
เตือนความจำถึงความสำคัญของการจะต้องประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุการสัมปทานในเร็วๆนี้ เนื่องจากมีความสำคัญต่อ ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จากปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่ง เป็นจำนวน 76% ของ ปริมาณการผลิตในอ่าวไทย และ 44% ของ ปริมาณการจัดหาก๊าซทั้งประเทศ โดยเฉพาะที่จะต้องใช้เป็นเชื้อเพลิงในการ ผลิตกระแสไฟฟ้า หากดำเนินการล่าช้าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศทันที
ความจำเป็นในการตั้ง บรรษัทพลังงานแห่งชาติ มีน้อยมาก เนื่องจากมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว อาทิ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลรับนโยบายโดยตรงจากกระทรวงพลังงาน ที่ส่งต่อมาจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. และจาก ครม.
ในส่วนของฝ่ายปฏิบัติก็จะประกอบไปด้วย ปตท. และ ปตท.สผ. ทำหน้าที่เหมือน บรรษัทพลังงานแห่งชาติ อยู่แล้ว ทั้งในด้านการสำรวจและการผลิต
ข้ออ้างที่ว่า บรรษัทพลังงานแห่งชาติ จะทำให้มีการรับซื้อและขายพลังงานมีความเป็นธรรม โดยจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐทั้งหมด เป็นผู้ขายปิโตรเลียมที่เป็นของรัฐตามสัญญาจ้างผลิตบริการและสัญญาแบ่งปันผลผลิต
ฟังดูดีเหมือนกับว่า คปพ.จะยึดผลประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของกรรมการบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ที่มีการล็อกสเปกไว้ชัดเจน เช่น ต้องมาจากองค์กรภาคประชาชนบางองค์กรเป็นต้น
...
อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่
ไม่เคยมีเอ็นจีโอคนไหนหรือองค์กรไหน ออกมารับปากว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสรรหาและเข้ามาเป็นกรรมการในบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แม้แต่คนเดียว
การขับเคลื่อนของเอ็นจีโอจึงเป็นที่เคลือบแคลงว่า เจตนารมณ์ที่แท้จริงคืออะไร ความรับผิดชอบและปกป้องต่อผลประโยชน์ของประเทศ เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง ถ้าการกระทำนั้นไม่มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง
ไม่แสวงหาประโยชน์เสียเอง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th