ศ.นพ.อรรถ นานา นายกกรรมการบริหาร สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานเสวนา “โครงการประเทศไทยปลอดวัณโรค” ว่า โครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค รวมถึงการให้ทุน TB Grant 2018 เป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชน เสนอนวัตกรรมเพื่อการควบคุมวัณโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนวัตกรรมนั้นควรสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ เช่นกรณีศึกษาโมเดลความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ที่ร่วมกับเครือข่ายงานวัณโรคภาคประชาชน จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุน TB Grant เมื่อปี 2553 และได้ดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน สามารถขยายเครือข่ายให้ความรู้และเข้าถึงชุมชนได้ถึง 469 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 2,066 หมู่บ้าน นับเป็นอีกโมเดลตัวอย่าง หากได้นำแนวคิดและวิธีการไปปรับใช้และขยายผลในจังหวัดอื่นๆ ก็จะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยได้
พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผอ.สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กล่าวว่า WHO ได้จัดให้ประเทศไทยติด 1 ใน 14 ประเทศที่พบผู้ป่วยวัณโรคสูงโดยพบอัตรา 1.2 แสนคน/ปี มีผู้เข้าถึงระบบการรักษาร้อยละ 60 และเสียชีวิตสูงถึงปีละ 12,000 ราย ทั้งวัณโรคที่ติดเชื้อ HIV สูง และมีวัณโรคดื้อยารุนแรง เนื่องจากไม่มียารักษาประมาณปีละ 4,500 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มาก ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการเร่งรัดค้นหาเพื่อนำผู้ป่วยที่ติดเชื้อมารักษา เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อที่ง่ายมาก และมีการติดต่อในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่อยู่ในที่แออัด เช่นกลุ่มนักโทษ กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรค HIV และกลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วย กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีการเคลื่อนย้ายไปมา สำหรับแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมวัณโรค ได้มีการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยในระยะเวลา 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2560-2564 ต้องลดอัตราผู้ติดเชื้อ 172 คน/1 แสนประชากร ให้เหลือ 88 คน/ 1 แสนประชากร ซึ่งเราก็พยายามเดินไปตามเป้าของ WHO ว่าภายในปี 2578 ต้องลดให้น้อยกว่า 10 คน/ 1 แสน ประชากร ซึ่งการดำเนินงานนั้นเนื่องจากมติได้ผ่าน ครม.แล้ว จึงมีการทำงานร่วมกับทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสอนให้เด็กนักเรียนรู้จักการเฝ้าระวังตัวเอง รู้จักว่าวัณโรคเป็นอย่างไร.
...