หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการนำ 13 สมาชิกทีมหมูป่ากลับบ้านโดยปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ถ้ำหลวง กำลังจะกลายเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ด้วยเพราะสถานที่แห่งนี้ กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากการรายงานข่าวของสารพัดสื่อไทยและเทศ    

เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดังขนาดนี้ ย่อมต้องมีคนอยากเดินทางมาท่องเที่ยวมากมาย และหนึ่งในจำนวนนั้น อาจมีส่วนหนึ่งที่รักการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เพื่อหวังเข้าไปพิสูจน์ด้วยตา ว่า เจ้าเนินนมสาว ที่ 13 ชีวิตหลบภัยอยู่ในถ้ำ หรือ โถง 3 ที่หน่วยซีลใช้เป็นฐานปฏิบัติการ นั้น มันมีหน้าตาเป็นเช่นไร? 

ควรไปหรือไม่? อันตรายหรือเปล่า?.... คำถามเสียงดังๆ ที่เกิดขึ้นในยามนี้ 

หากแต่ นอกเหนือไปจากที่กล่าวไปข้างต้น สิ่งสำคัญกว่าที่คนในสังคม กำลังขบคิดเพื่อหาคำตอบร่วมกัน คือ เราได้อะไรจากโมเดลการช่วยเหลือทีมหมูป่า และหน่วยงานภาครัฐจะมีแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในภาวะวิกฤติเช่นนี้อย่างไรต่อไปในอนาคต และมันจะต้องไม่ใช้มาตรการที่ออกมาแบบลูบหน้าปะจมูก แต่มันควรเป็นการบูรณาการในรูปแบบที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต 

...

ทุกคำถามนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ของเรามีคำตอบ จาก ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง หัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เสนอปิดถ้ำหลวงถึงสิ้นปี เพื่อความปลอดภัยและให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว   

"ในความเห็นส่วนตัว ผมอยากขอเสนอให้ปิดถ้ำหลวงระยะหนึ่ง ถึงแม้จะหมดหน้าฝนในเดือนตุลาคมนี้ หรือ อาจเลยไปถึงสิ้นปีนี้ก่อน เพื่อศึกษาถึงสาเหตุและความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก เพื่อนำเอาองค์ความรู้มาเตรียมการในการประเมินการจัดทำมาตรการด้านความปลอดภัย รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากการดำเนินงานในช่วงการให้ความช่วยเหลือ เช่น การสูบน้ำออกจากถ้ำ หรือ การเบี่ยงทางน้ำก่อนเข้าถ้ำ เป็นต้น

รวมถึงเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและฟื้นฟูระบบนิเวศให้ธรรมชาติกลับเข้าสู่สภาพปกติ ที่พร้อมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากคาดการณ์ว่า จะมีคนแห่ไปเที่ยวชมหลังวิกฤติหมูป่าและหลังหมดฤดูฝน! ที่อุทยานจะอนุญาตในช่วงต่อไป 

โดยเฉพาะพื้นที่ภายในถ้ำที่คาดว่า น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงมากๆ เช่น บริเวณโถง 3 หรือ ลึกเข้าไปมากกว่านั้น ควรจะเป็นพื้นที่ ที่ไม่ควรให้ใครเข้าไปโดยเด็ดขาดในระยะนี้ และหลังจากน้ำลดจนหมดฤดูฝน" ผศ.ดร.สมบัติ เริ่มต้นการสนทนากับ ทีมข่าวฯ ด้วยน้ำเสียงจริงจังและหนักแน่น

เชื่อนักท่องเที่ยวแนวผจญภัย จ้องเข้าถ้ำหลวง แนะเร่งทำความเข้าใจ

สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ ต้องมีการมาตรการที่ชัดเจนในระยะสั้นและให้ความรู้และความเข้าใจทางวิชาการและข้อจำกัดกับประชาชนทั่วไปอย่างเป็นระบบเพราะแน่นอนว่า เมื่อถ้ำนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของคนเกือบทั้งโลก ย่อมมีคนบางกลุ่มที่คิดอยากเข้าไปภายในถ้ำ เพื่อสนองความอยากรู้ อยากเห็นของตนเอง

ซึ่งในบางพื้นที่ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า น่าจะมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของคนที่จะเข้าไป ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญเรื่องถ้ำมากเพียงพอ ที่ต้องมีการศึกษาและกำหนดมาตรการและแผนงานในระยะยาวเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ถ้ำอย่างยั่งยืน และมีความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Thai NavySEAL
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Thai NavySEAL

แนะใช้โมเดลกู้ภัยหมูป่า สร้างแนวทางบริหารจัดการธรณีพิบัติภัยแบบยั่งยืน 

...

ส่วนถ้ำหลวงจะมีความปลอดภัยและพร้อมให้คนทั่วไป เข้าไปเที่ยวได้อีกเมื่อไหร่นั้น? ผศ.ดร.สมบัติ ครุ่นคิดสักครู่ ก่อนตอบทีมข่าวฯ ว่า คงไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนได้ เพราะต้องให้นักผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งด้านธรณีวิทยา ด้านอุทกธรณีวิทยา ด้านภูมิประเทศที่ชำนาญเรื่องถ้ำ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การวางแผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการธรณีพิบัติภัยที่เกี่ยวกับการเกิดน้ำหลากในพื้นที่สูง และด้านอื่นที่เกี่ยวข้องข้อง ไปทำการศึกษาและวางแผนงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่คือกรมอุทยานฯ เป็นแม่งาน

แต่เหนืออื่นใด สิ่งสำคัญที่คนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาล ควรต้องเร่งศึกษาโดยเร็วในช่วงระหว่างที่มีการปิดถ้ำหลวงชั่วคราว ก็คือ องค์ความรู้ที่ได้จาก โมเดลการกู้ภัยทีมหมูป่า เพื่อนำไปสู่ การสร้างแนวทางบริหารจัดการธรณีพิบัติภัย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแบบยั่งยืน

“ผมอยากให้มองในระยะยาว สิ่งที่เกิดขึ้นที่ถ้ำเขาหลวง หากมันเกิดขึ้นกับถ้ำอื่นๆ ที่มีลักษณะทางธรรมชาติที่คล้ายคลึงกันขึ้นมา มันย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน" สีหน้าของ นักธรณีวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เต็มไปด้วยความหนักใจ เมื่อตอบคำถามนี้ 

...

Road Map การจัดการภัยพิบัติ ต้องเร่งทำป้องกันเกิดเหตุหมูป่าติดถ้ำภาค 2

เนื่องจากประเทศไทยเรามีอยู่มากกว่าร้อยกว่าถ้ำ ที่มีการท่องเที่ยวกันอยู่ในเวลานี้ หากเราไม่มีการจัดทำ Road Map การจัดการภัยพิบัติ ลักษณะนี้เอาไว้อย่างเป็นระบบ สำหรับการเตรียมรับมือเอาไว้

นับจากวันนี้เป็นต้นไป มันอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก ที่เราต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญการกู้ภัยที่เก่งที่สุดทางด้านนี้ทั้งโลก มาร่วมมือกับแบบในกรณีทีมหมูป่า อีกครั้ง...!

แต่ถ้าเราลดโอกาสของความเสี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นให้ได้มากขึ้น น่าจะเป็นวิธีการการบริหารจัดการพิบัติภัยอย่างยั่งยืนและเป็นระบบมากกว่าจะดีหรือไม่ ถ้าจะเกิดก็ขอให้เรานำบทเรียนในครั้งนี้ไปดำเนินการป้องกัน เตรียมการ และจัดการในช่วงวิกฤติ เอาไว้แล้วอย่างดีที่สุดแล้ว

แนะเร่งทำแผนที่ถ้ำทุกถ้ำในประเทศไทย เชื่อ กรณีแบบถ้ำหลวง อาจไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว 

"ผมอยากยกตัวอย่าง สิ่งที่เป็นรูปธรรมง่ายๆ เช่น ถ้ำเป็นร้อยๆ ถ้ำในประเทศไทย ณ เวลานี้ ควรมีแผนที่อธิบายสภาพโครงสร้าง รูปร่างภายในถ้ำ ที่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในการอธิบายเพื่อการท่องเที่ยวในเชิงพื้นที่อย่างชัดเจน โดยมีทั้งพิกัดและระดับความลึก ระดับความปลอดภัย อธิบายควบคู่ไปกับภาพกราฟิกแบบง่ายๆ อยู่ด้วย 

เพราะหากในร้อยกว่าถ้ำที่ว่านี้ เกิดมีโครงสร้างภายในที่พร้อมรับน้ำบ่ามาจากลำน้ำภายในถ้ำ ซึ่งมีน้ำจากผิวดินไหลลงมาเติมเหมือน หรือใกล้เคียง กับ ถ้ำหลวง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทีมหมูป่า มันย่อมอาจเกิดขึ้นอีกได้อีกครั้ง

ฉะนั้น การบูรณาการข้อมูลไปสู่ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันตัวเอง เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด และแทบไม่มีความเสี่ยงเลย ยกตัวอย่างเช่น การนำแบบจำลอง ภาพถ่ายภายในถ้ำ ภาพแผนที่จริงแบบคนเดินแผนที่ ภาพกราฟิก หรือ ข้อมูลอื่นๆ ประกอบกรณีต้องประสบภัยพิบัติ มาประกบกันแล้วจัดทำเป็น แอปพลิเคชันในมือถือ เพื่อให้คนทั่วๆไป มีข้อมูลก่อนที่จะเข้าไปเที่ยวภายในถ้ำต่างๆ ของประเทศไทย แบบนี้ก็เท่ากับสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่งแล้ว" ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านแผนที่และภูมิสารสนเทศ อันดับต้นๆ ของเมืองไทย กล่าว 

...

สำหรับการจัดทำ Road Map การจัดการภัยพิบัติแบบยั่งยืน ตามข้อเสนอของ ผศ.ดร.สมบัติ นั้น ประกอบไปด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ

1.การป้องกันอย่างยั่งยืน (Prevention) เช่น การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย และการบังคับใช้

2.ช่วงวิกฤติ (Crisis/Emergency) เช่น การกำหนดบทบาทและภารกิจรวมถึงขั้นตอนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดพื้นที่พิบัติภัยและพื้นที่เร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

3.ช่วงฟื้นฟู (Post crisis/Assess) การกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับลักษณะ รูปแบบ และผลกระทบจากประเภทของพิบัติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ในแต่ละขั้นตอนของการบริหารจัดการพิบัติภัยธรรมชาติ

ซึ่งหากทั้งหมดนี้ ประเทศไทยของเราสามารถทำได้ วิกฤตการณ์หมูป่าติดถ้ำ หรือ อาจจะมีเหตุการณ์ที่รุนแรงกว่านี้เกิดขึ้นในอนาคต พวกเราคนไทย ก็จะสามารถป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างแน่นอน ฉะนั้น รัฐบาลจึงควรเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการทั้งหมดที่ว่านี้ เพื่อนำไปสู่การ สร้าง Road Map การจัดการภัยพิบัติ ที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้ อย่างเป็นรูปธรรมจากกรณีทีมหมู่ในครั้งนี้..” ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวในที่สุด 

(สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียดได้ที่ www.gisthai.org และ Page Gisthai)

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน