สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน การชำระหนี้ และดอกเบี้ย ซึ่งมีแฟนเพจส่งข้อความเข้ามาถามปัญหาข้อกฎหมายในเพจทนายเจมส์ LK เกี่ยวกับการที่ลูกหนี้ไปขอกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ โดยมีการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด คือ ร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี แต่ต่อมาในภายหลัง เศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายขาดทุน จึงทำให้ขาดสภาพคล่อง ลูกหนี้ไม่สามารถที่จะผ่อนชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามกำหนด สร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าหนี้เป็นอย่างมาก และแจ้งว่าจะโพสต์ประจาน เพื่อทวงหนี้ รวมถึงจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล

กรณีดังกล่าว ลูกหนี้จึงเกิดข้อสงสัยในกระบวนการทางกฎหมายหลายประการ ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลแล้ว จะสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ได้หรือไม่ และใครจะเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระให้แก่เจ้าหนี้

เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญา คู่ความสามารถที่จะร้องขอต่อศาล เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ยกันหรือปรับความเข้าใจกันก่อนที่คดีจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ในการเจรจาไกล่เกลี่ยในศาลนั้น จะมีผู้ประนอมเป็นคนกลาง ซึ่งได้รับมอบหน้าจากศาล เข้ามาช่วยประสาน แนะนำ และหาช่องทางข้อยุติข้อพิพาท เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไป สมประโยชน์กันทั้งคู่ ไม่มีฝ่ายใดแพ้ ไม่มีฝ่ายใดชนะ

ผลดีของการไกล่เกลี่ย และทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล คือ ไม่ต้องเสียเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าทนาย หรือค่าขึ้นศาล เรียกว่า เอาเวลาไปสร้างรายได้ดีกว่าการเอาเวลามาขึ้นศาล

ในส่วนของจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระให้แก่เจ้าหนี้นั้น ไม่มีฝ่ายใดกำหนดจำนวนเงินได้ จำนวนเงินขึ้นอยู่กับความสามารถของลูกหนี้ และความพอใจของฝ่ายเจ้าหนี้ด้วย แม้แต่ศาลเองก็ไม่มีอำนาจบังคับได้ ทั้งนี้ เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ ศาลจะพิพากษาตามรูปคดี อาจจะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ทั้งหมดตามคำฟ้อง หรือ ยกฟ้องแล้วแต่ลักษณะคดี ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป

...

ประเด็นที่สอง กรณีที่เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ลูกหนี้จะสามารถนำเอาเงินที่เคยชำระไปแล้ว มาหักกับดอกเบี้ยค้างชำระหรือต้นเงินได้หรือไม่

ในประเด็นนี้ เคยมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่า การชำระหนี้ ซึ่งเป็นค่าดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น ลูกหนี้ไม่สามารถที่จะนำเอาเงินที่เคยชำระไปแล้วดังกล่าวมาหักกับดอกเบี้ยค้างชำระหรือต้นเงินในปัจจุบันได้ เนื่องจากเป็นการชำระหนี้โดยอำเภอใจ แต่ต่อมาในปี 2560 มีคำพิพากษาฎีกาได้กลับคำพิพากษาฎีกาเดิม โดยวินิจฉัยว่า การที่เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น มีผลให้ดอกเบี้ยทั้งหมดตกเป็นโมฆะ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่ลูกหนี้ชำระแก่เจ้าหนี้มาแล้ว ไปหักออกจากดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 2131 / 2560

โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

จากคำพิพากษาฉบับดังกล่าว ทำให้ลูกหนี้มีสิทธิในการต่อสู้คดี เพื่อให้นำเอาเงินที่เคยชำระให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้วนั้น มาหักออกจากต้นเงินได้ ต่อไปลูกหนี้คงจะมีกำลังใจในการหาเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ เพราะคงจะเห็นทางสว่างในการชำระหนี้ให้หมดได้บ้าง และทำให้เจ้าหนี้เองก็จะต้องไตร่ตรองให้ดีว่า จะปล่อยเงินกู้ เพื่อช่วยลูกหนี้ในยามที่ลูกหนี้ลำบากหรือไม่ รวมถึงควรจะเรียกหลักประกันออกหรือผู้ค้ำประกันเพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับผู้ที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK ได้เลย