กรมสุขภาพจิต ระบุ IQ เด็กไทยไม่พัฒนา ลดระดับต่ำสุดเอเชีย แนะพ่อแม่กระตุ้นการคิด ฝึกจินตนาการ จัดระเบียบเส้นใยประสาท ขณะที่ผลวิจัยพบสมองเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก กำพร้าฝ่อลง คล้ายคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ ขณะที่เด็กถูกทารุณกรรมจะมีสารความเครียดในเลือดสูง มีปัญหาพัฒนาการสมอง...
วันที่ 9 ธ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการ “สำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา เด็กไทยปี 2554” ซึ่งกรมสุขภาพจิตร่วมกับกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำเนินการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยจำนวนประมาณ 100,000 คนทั่วประเทศ ว่า ข้อมูลจากหนังสือของ Lynn ปี 2006 ได้ทำการสำรวจ IQ ของเด็กทั่วโลก พบว่า IQ ของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 91 จัดอยู่ในระดับที่ 53 จาก 192 ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่ำกว่าระดับ IQ ของเด็กในประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น เด็กในประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม รวมทั้งมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2002-2006 อันดับ IQ ของเด็กไทยแทบจะไม่มีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ระดับ IQ ของเด็กเพิ่มจาก 103 ในปี ค.ศ.2002 เป็น 108 ในปี ค.ศ. 2006 ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อนำระดับ IQ แสดงผลเป็นกราฟรูประฆังคว่ำ พบว่า IQ ที่ระดับ 91 ของเด็กไทย มีแนวโน้มที่จะเอียงไปทางซ้ายของกราฟ ซึ่งเป็นด้านที่ตรงข้ามกับระดับการแปรผลที่ฉลาดกว่า
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาของ นพ.อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์รางวัลโนเบลในปี 2553 พบว่า การเรียนรู้ ความรู้ ความจำ ความคิด อารมณ์ สติปัญญา เกิดจากการที่เซลล์สมองแตกกิ่งมาเชื่อมต่อกันเป็นวงจร สมองส่วนที่มีการจัดระเบียบใยประสาทจะเพิ่มการเชื่อมต่อใหม่ๆเพิ่มขึ้นจำนวน มาก ขณะที่ใยประสาทส่วนที่ไม่ได้ใช้จะหายไป ใยประสาทส่วนที่ใช้บ่อยจะหนาตัวขึ้น ทั้งนี้ ทารกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี จะเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการมากที่สุด ดังนั้น การสร้างการพัฒนาสมองให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทที่แข็งแรงจะมีส่วน ทำให้เด็กมีระดับ IQ ที่เพิ่มขึ้นด้วย
ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นอกจากระบบใยประสาทในสมองแล้ว ยังพบว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการพัฒนาสมองของคนอย่างมาก การวิจัยในสัตว์และคนให้ผลยืนยันตรงกันว่า ความสามารถของสมองในการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Neuro-Plasticity หมายถึง การที่เราใช้สมองส่วนใดบ่อยๆ สมองส่วนนั้นจะเจริญเติบโตได้ดี แต่หากเราไม่ได้ใช้สมองส่วนนั้นเลย นานๆเข้า สมองส่วนนั้นก็จะฝ่อไป ในปีพ.ศ.2541 มีการศึกษาพบว่า หลังคลอดออกมา สมองเด็กทุกคนทั่วโลกจะมีรูปแบบที่เหมือนกัน แต่วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ และอบรมเลี้ยงดูต่างกัน จะทำให้ IQ เด็กต่างกัน เซลล์สมองส่วนไหนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันจะถูกทำลาย ทำให้ประสิทธิภาพของสมองส่วนนั้นถูกทำลาย เช่น การคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นจะหายไป จึงมีการสรุปว่า จินตนาการของคนไทยหายไป เนื่องจากเราไม่ค่อยกระตุ้นให้เด็กฝึกคิด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมองเด็กจำนวนมาก ระบุตรงกันถึงการกระตุ้นการใช้สมองที่เหมาะสม เช่น การพบว่าสมองของเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามีบางส่วนเสียการทำงานไป คล้ายๆกับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือ เด็กที่ถูกทารุณกรรมจะมีระดับสารความเครียดในเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ และจะมีปัญหาพัฒนาการสมอง อารมณ์ ความประพฤติ และการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า เด็กที่ได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูช้า เช่น ปล่อยให้ร้องไห้นานๆ หิวแล้วยังไม่ได้กิน เกิดความกลัวโดยไม่มีใครมาอยู่ใกล้ชิด ไม่มีใครมาสัมผัสโอบอุ้ม เด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่มั่นคงในชีวิต หวาดระแวง ฯลฯ
“ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้น เซลล์ประสาทจะมีการสร้างขึ้นมากกว่าแสนล้านเซลล์ แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นจะด้วยการเสริมอาหาร หรือการเลี้ยงดู ที่เหมาะสม ก็จะขาดเครือข่ายเส้นใยประสาทที่ยื่นยาวออกมา ที่พร้อมจะส่งเสริมให้เด็กฉลาดและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น”นพ.อภิชัย กล่าว
...