ยุคสมัยนี้ถ้าสื่อสารไม่เป็น พูดไม่โดนใจ ถึงจะเก่งยังไงก็แป้กไปไม่ถึงดวงดาว การสื่อสารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องอาศัยพรสวรรค์บวกพรแสวง จะสื่อสารออกไปทั้งทีก็ต้องให้ติดตา...ติดหู... ติดปาก...ติดใจ และติดหนึบ จึงติดแน่นไม่มีวันลืม!!

ทำไมนิทานอีสปถึงอยู่ยงคงกระพันกว่า 2,500 ปี ทำไมคนยุคใหม่ยังเชื่อคำทำนายของนอสตราดามุส ทั้งๆที่เขียนไว้หลายร้อยปี ทำไมคนเชื่อฝังใจว่าดื่มโค้กแล้วกระดูกผุ ทั้งๆที่ไม่เคยเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์

สองพี่น้องนักวิชาการชื่อดังจากสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยดุ๊ก ซึ่งเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเรื่องการสื่อสาร “ชิพ ฮีธ” และ “แดน ฮีธ” ไขปริศนาใน “Made to Stick” ว่าทำไมเรื่องบางเรื่องถึงฝังแน่นติดหนึบในหัวผู้คนเป็นเวลานาน พอลงมือศึกษาจริงจังพบว่า มีองค์ประกอบ 6 อย่าง ที่สามารถนำ มาใช้เพิ่มพลังการสื่อสารให้ติดหนึบในหัวผู้คนยุคใหม่

ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่ต้องการให้พนักงานทำตาม...พ่อแม่ที่อยากให้ลูกเชื่อฟัง...ลูกน้องที่อยากเสนอความคิดหัวหน้า...นักขายที่ต้องการจูงใจลูกค้า หรือนักพูดที่อยากสะกดใจคนฟัง เทคนิคการสื่อสารให้เป็นที่จดจำของอีกฝ่าย สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้

โดยแก่นสำคัญ 6 อย่างของการสื่อสารให้ทรงพลังคือ “เรียบง่าย ลึกซึ้ง จริงใจ” หัวใจสำคัญของการสื่อสารให้โดนใจไม่ใช่การชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบาย ไม่ใช่พูดให้สั้นเข้าไว้ ไม่ใช่แค่หยิบวรรคทองที่ติดปากคนมาก๊อบปี้ แต่ถ้าอยากให้คนจำคำพูดเราแม่นๆ ต้องสร้างแนวคิดใหม่ เรียบง่ายลึกซึ้ง ฟังแล้วกินใจขนาดนำไปปฏิบัติตาม

ทำยังไงให้คนหันมาสนใจแนวคิดของเรา เราจำเป็นต้องกระตุกใจคนฟัง ด้วยการนำเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับสัญชาตญาณการสื่อสารให้ติดหนึบต้อง “เหนือความคาดหมาย” และ “เร้าอารมณ์” ใช้ความประหลาดใจเป็นแม่เหล็กดูดคนฟังแล้วอัดซ้ำกระตุ้นให้เกิดความกระหายใคร่รู้ เหมือนกรณีตีแผ่ความน่ากลัวของ “ข้าวโพดคั่วตามโรงหนัง” เมื่อปี 1992 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะของอเมริกา ปลุกกระแสได้สำเร็จด้วยการชี้ว่า ข้าวโพดคั่วอบเนยถุงเดียวมีไขมันที่ทำให้เส้นเลือดอุดตันมากกว่าเบคอนกับไข่, บิ๊กแมคกับเฟรนช์ฟรายส์ หรือสเต๊กเนื้อจานโต!! เรื่องนี้กลายเป็นข่าวครึกโครมพักใหญ่ ส่งผลให้ยอดขายข้าวโพดคั่วโรงหนังทั่วอเมริกาลดฮวบอย่างน่าตกใจ

...

อีกหนึ่งแก่นของการสื่อสารอย่างทรงพลานุภาพคือ “จับต้องได้” เพราะสมองของมนุษย์ถูกสร้างมาให้จดจำข้อมูลที่จับต้องได้ง่าย การสื่อสารอะไรที่คลุมเครือดูเป็นนามธรรม ต้องตีความหลายซับหลายซ้อน ไม่ใช่การสื่อสารที่ติดหนึบโดนใจ

“ความน่าเชื่อถือ” แนวคิดที่ติดหนึบจะต้องมีความน่าเชื่อถือในตัวมันเอง เวลาที่เราพยายามหาเหตุผลสนับสนุนอะไรสักอย่าง เรามักกระโจนเข้าหาตัวเลขที่น่าเชื่อถือเป็นอันดับแรก แต่บางครั้งการใช้วิธีตั้งคำถามง่ายๆถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ผลลัพธ์ดีกว่ามาก เช่น ตอน “โรนัลด์ เรแกน” โต้วาทีกับ “จิมมี คาร์เตอร์” เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เรแกนไม่ได้หยิบตัวเลขสถิติเพื่อชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจอเมริกาซบเซาเพียงใด แต่เขาตั้งคำถามง่ายๆว่า ก่อนจะลงคะแนนเสียง ลองถามตัวเองสิว่าตอนนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของคุณดีกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วไหม...นี่มันโยนระเบิดใส่คู่ต่อสู้ชัดๆ

คนยังคล้อยตามได้ง่ายกับ “เรื่องเล่า” ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริง เช่น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะมีเรื่องราวอัดแน่นเกี่ยวกับสถานการณ์คับขันในการผจญเพลิง เมื่อนำเรื่องราวเหล่านี้ออกมาแชร์ ทำให้คนฟังรู้สึกอินไปด้วย เหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์หายาก ยิ่งเป็นยุคโซเชียลแบบนี้ ถึงจะเป็นคนตัวเล็กๆ ไม่สำคัญอะไรเลย แต่ก็แจ้งเกิดได้อย่างยิ่งใหญ่ด้วยประสบการณ์จ๊าบๆไม่ซ้ำใคร.

มิสแซฟไฟร์