ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศ ไทย กล่าวถึงสารไซบูทรามีน ว่า สารไซบูทรามีน เป็นการสมัครใจที่จะเพิกถอน ทะเบียนออกจากตลาดของบริษัทยา ซึ่งนอกจากประเด็นผลกระทบทางสุขภาพแล้ว ยังอาจมาจากความไม่ชัดเจนที่จะช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่ เพราะหากกินไปเรื่อยๆน้ำหนักก็น่าจะลดเรื่อยๆ แต่มีข้อมูลศึกษาว่า พอกินไปถึง 6 เดือน ก็เริ่มนิ่งไม่ลดไปกว่านั้นแต่หากเลิกกินก็เกิดโยโย่ เอฟเฟกต์ ส่วนผลทางคลินิกโดยการใช้ของผู้ประกอบวิชาชีพก็ไม่ชัดเจนว่า เกิดผลกระทบมากแค่ไหน จึงเกิดการยกเลิกแบบสมัครใจ ทำให้มีปัญหาทางกฎหมาย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่มีการยกเลิกสูตรนี้ ไซบูทรามีนไม่ได้ถูกถอน ดังนั้น ถ้ามีผู้ผลิตขอขึ้นทะเบียนก็สามารถทำได้

“ยาไซบูทรามีนเป็นยาควบคุมพิเศษ เพียงแต่ไม่มีผู้ผลิตรายใดไปขอขึ้นทะเบียนตำรับเพื่อผลิตหรือนำเข้า ดังนั้น หากมีการผลิตหรือขายถือว่าผิดกฎหมาย” ภก.จิระกล่าว

ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า มีงานวิจัยประสิทธิภาพของไซบูทรามีนในคนไข้โรคอ้วนกว่า 600 คน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม พบว่า จากการใช้ไซบูทรามีนต่อเนื่อง 6 เดือนช่วยลดน้ำหนักลงมาได้จาก 100 กิโลกรัม เหลือ 90 กิโลกรัม จากนั้นนำผู้ป่วยที่ผ่านช่วง 6 เดือนมาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกหยุดไซบูทรามีน พบว่า น้ำหนักเพิ่มขึ้น กับกลุ่มที่กินต่อจนครบ 2 ปี น้ำหนักก็ไม่ลด ดังนั้น ประสิทธิภาพของไซบูทรามีน คือ ช่วยลดน้ำหนักช่วงแรกเท่านั้น.