ในอดีตการจดบันทึกการประชุม เรื่องราว คำสั่ง หรือเรื่องสำคัญที่เป็นความลับ ผู้จดบันทึกหรือเลขานุการทำหน้าที่จดบันทึกด้วย “ชวเลข” แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก การบันทึกด้วยเครื่องบันทึกเสียงด้วย MP3 และ MP4 ซึ่งสามารถบันทึกได้ทั้งภาพและเสียงเข้ามาแทนการจดบันทึกด้วย “ชวเลข” จึงเกิดมี “คลิปเสียง” (Sound Clips) ที่ไม่ต้องการเปิดเผยหลุดออกให้บุคคลได้รู้ทั่วกัน ชวเลขนั้นมีการเรียนการสอนในสาขาวิชาเลขานุการ ซึ่งมักจะอยู่ในคณะวิชาบริหารธุรกิจของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ แต่เดิมเคยมีการเรียนการสอนทั้งในระดับโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย แต่ในปัจจุบันการเรียน “ชวเลข” เริ่มหายไป และเลขานุการหรือผู้ทำหน้าที่คล้ายกับเลขานุการในปัจจุบันส่วนมากไม่สามารถ ใช้ภาษาชวเลขในการจดบันทึกได้ นอกจากนั้นการให้ความสำคัญกับการจดบันทึกมีน้อยลงเพราะคิดว่าเครื่องบันทึกเสียงสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่า ในขณะที่การจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ นั้นในบางสถานการณ์ไม่อาจใช้เครื่องบันทึกเสียง หรือพึ่งพาเทคโนโลยีและแบตเตอรี่ได้ตลอดเวลา เช่น การประชุมเรื่องลับ การบันทึกคำสั่งงาน การบันทึกเรื่องราวฉุกเฉิน และการทำงานด้านการข่าว เป็นต้น

ชวเลข (Shorthand)คืออะไร

วิกิพีเดีย ได้ให้ความหมายของ ชวเลข (Shorthand) ว่า หมายถึง วิธีการเขียนข้อความอย่างย่อด้วยสัญลักษณ์ เพื่อเพิ่มความเร็วในการเขียนหรือการจดบันทึก เมื่อเทียบกับการเขียนปกติธรรมดาในภาษาหนึ่ง ๆ ขั้นตอนของการเขียนให้เป็นชวเลขเรียกว่า “การเขียนชวเลข” (Stenography: มาจากภาษากรีก stenos = แคบ, ใกล้; graphos = การเขียน หรือบางครั้งอาจเรียกว่า Brachygraphy หรือ Tachygraphy) ชวเลขนั้นมีหลากหลายรูปแบบมาก ระบบชวเลขทั่วไปมักจะมีการกำหนดสัญลักษณ์หรือคำย่อเพื่อแทนคำหรือวลีธรรมดา ซึ่งช่วยให้สามารถเขียนชวเลขได้เร็วพอๆ กับคำพูดของคน ชวเลข (Shorthand) สามารถใช้แทนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ มีลักษณะเป็น “สัญลักษณ์” ใช้เขียนตามเสียงเพื่อให้ทันคำพูดของคน ชวเลขที่นิยมใช้มี 2 แบบ คือ ชวเลขแบบปิทแมน (Pitman Shorthand) และชวเลขแบบเกร๊กก์ (Gregg Shorthand) ชวเลขแบบที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ คือ ชวเลขแบบเกร๊กก์

ชวเลขมีมาตั้งแต่สมัยโรมันโบราณ โดย มาคุส ตุลลิอุส ไทโร (Marcus Tullius Tiro) มีชีวิตระหว่าง 103–4 ปีก่อนคริสตกาล เขาเป็นทาสชาวโรมัน ต่อมาได้เป็นไทแก่ตัว ได้จดบันทึกคำพูดของ Cicero (Cicero's Speeches) ที่เป็นเจ้านายของตัวเองเรียกว่า Tironian Notes ในตอนนั้น ไทโร ได้ใช้เครื่องหมายแทนคำหรือความหมาย ทำให้มีความยากในการเขียนและจดจำ ต่อมามีการพัฒนาภาษาในการจดบันทึกทั้งในประเทศจีนและเยอรมนี และพัฒนาดัดแปลงเป็นชวเลขแบบต่าง ๆ รวมถึง ชวเลขแบบปิทแมน ซึ่งพัฒนาโดย เซอร์ ไอแซค ปิทแมน (Sir Isaac Pitman) ชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1837 และชวเลขแบบเกร็ก พัฒนาโดย ยอน โรเบิร์ต เกร็ก (John Robert Gregg) ชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. 1888 จนกลายเป็นชวเลข 2 รูปแบบที่นิยมใช้ไปทั่วโลก

...


การเรียนการสอนชวเลข

ชวเลข เป็นการเขียนตามเสียง หมายความว่าเขียนตามเสียงที่ได้ยินเท่านั้น แม้ว่าในการเขียนในรูปแบบภาษาไทยหรืออังกฤษจะมีตัวอักษรใดก็ตาม แต่หากไม่ได้ออกเสียงนั้น ก็จะไม่เขียนลงไปเพื่อไม่ให้เสียเวลาและพื้นที่การจดบันทึก เช่น สรวล ตัว ร ไม่ออกเสียง ตัวชวเลขจะเขียนเพียง สวน หรือศาสตร์ ตัว ตร์ ไม่ออกเสียง ตัวชวเลขจะเขียนเพียง สาด หรือคำว่า จริง ก็จะเขียนเป็นชวเลขว่า จิง เป็นต้น

ชวเลขไม่มีวรรณยุกต์ การเขียนจะถือการออกเสียงเป็นหลัก แม้การเขียนโดยปกติ คำหรือถ้อยคำนั้นจะมีวรรณยุกต์อยู่ด้วยก็ตาม ผู้ถอดชวเลขจะทราบจากข้อความได้เองว่า คำนั้นคือคำใด เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า ตัวชวเลขจะเขียนเป็นตัวเดียวกันคือ กา ถ้าชวเลขเขียนว่า กาเป็นสัตว์ปีก ผู้ถอดชวเลขจะทราบทันทีว่า กา ตัวนั้นคือ นกกา ทั้งนี้เพราะข้อความที่บอกว่า “เป็นสัตว์ปีก” ทำให้เข้ารูปประโยคทราบความหมาย จึงช่วยให้สามารถถอดชวเลขได้อย่างถูกต้อง

อาจารย์ สุมาลี นิกรแสน อาจารย์แผนกวิชาเลขานุการ คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกหลักสูตร Ph.D. Technical Education Technology ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และกำลังทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับสมรรถนะของเลขานุการที่นายจ้างต้องการ ได้กล่าวถึงการเรียนการสอนชวเลขตามประสบการณ์ที่ตนเองได้ผ่านการเรียนมา ดังนี้

“...เมื่อจบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และที่นั่นมีการสอนชวเลขทั้งสองแบบคือ ชวเลขไทยแบบเกร็ก (Gregg Shorthand) ผู้สอนคืออาจารย์สมพงษ์ พุทธเจริญ และชวเลขไทยแบบปิทแมน (Pitman Shorthand) ผู้สอนคืออาจารย์พงศ์ สุวรรณธาดา การเรียนการสอนชวเลขไทยที่นั่นได้แบ่งผู้เรียนเป็นสองกลุ่ม คือผู้ที่เรียนชวเลขไทยแบบเกร็กมาจากระดับปวช. ก็ให้เรียนชวเลขไทยแบบเกร็กต่อเนื่องในขั้นสูง ส่วนผู้เรียนที่เรียนชวเลขไทยแบบปิทแมน ก็ให้เรียนชวเลขไทยแบบปิทแมนในขั้นสูงต่อไป และมีวิชาชวเลขอังกฤษให้เรียนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวิชา เมื่อต้องเรียนชวเลขอังกฤษเป็นวิชาบังคับเพิ่มอีกคราวนี้ผู้เรียนทั้งสอง กลุ่มก็ถูกนำมาเรียนรวมกันในระบบเดียวคือ เรียนชวเลขอังกฤษแบบเกร็กเพียงแบบเดียว เมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อน ๆ หลายคนยังคงใช้ชวเลขในการเล็กเชอร์รายวิชาที่เรียน…ฉะนั้น สมุดจดบันทึกของไครก็ไม่อาจจะยืมกันได้ “เพราะชวเลขของทุกคนเริ่มเข้าสู่ขั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ มีการพัฒนาและคิดคำย่อขึ้นใช้เองเป็นเฉพาะตัว” จึงไม่อาจยืมสมุดจดงานมาลอกกันได้ และที่นี่เองได้เรียนชวเลขกับ ผศ.เกษกานดา สุภาพจน์อีกครั้ง ในการเรียนครั้งนี้ต่างจากการเรียนเพื่อจดบันทึกได้เร็ว ด้วย ผศ.เกษกานดา สุพาพจน์ เป็นอาจารย์ประจำสาขาธุรกิจศึกษาวิชาเอกเลขานุการ จึงได้สอนวิธีการสอนชวเลขให้ด้วย จึงได้วิธีการสอนจากท่านอาจารย์ผู้นี้ และนับได้ว่าท่านได้เป็นผู้สอนชวเลขให้เป็นคนแรก และเป็นคนสุดท้ายทิ่สอนชวเลขด้วยวิธีการสอนชวเลข และเมื่อมีโอกาสได้สอนชวเลขบ้าง ก็ได้ใช้ตำราของ ผศ.เกษกานดา สุภาพจน์ ที่ท่านได้กรุณาเขียนไว้ให้เป็นแบบเรียนรู้ด้วยตนเองขึ้น แม้จะยาก แต่ตำราเล่มนี้นับเป็นประโยชน์และชอบเป็นพิเศษสำหรับตำราเล่มนี้ เพราะทำให้การเรียนชวเลขที่ค่อนข้างยาก เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ไม่ยากเกินที่จะเข้าใจหากมีความตั้งใจ…”

ชวเลข: ภาษาที่กำลังจะหายไป

อาจารย์ สุมาลี นิกรแสน ยังได้กล่าวถึงอาจารย์ลัดดา สุขพานิช อดีตเลขานุการกรมอาชีวศึกษา เป็นผู้หนึ่งซึ่งร่วมคิดค้นดัดแปลงชวเลขแบบเกร็กจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ท่านเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับชวเลขเมื่อครั้งที่ท่านได้สอบชิงทุนจากกรม อาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไปเรียนต่อประเทศอเมริกาด้านเลขานุการ เนื่องจากขณะนั้นกำลังจะตั้งแผนกเลขานุการขึ้นเป็นครั้งแรกที่วิทยาลัย เทคนิคกรุงเทพ ท่านจึงมีโอกาสได้เรียนรู้ชวเลขอังกฤษ เมื่อหลายปีก่อนท่านเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ... “ชวเลข” เป็นศาสตร์ชั้นสูงของการใช้ภาษาเขียน เพียงลากปลายปากกาด้วยเส้นโค้ง ๆ ขีด ๆ ตามเสียง ก็สามารถถอดข้อความที่มีความแม่นยำ และครบถ้วนใจความสำคัญ อาจเหลือเพียงแค่ตำราที่ไร้คนสืบทอด...

ปัจจุบันการรับสมัครงานใน ตำแหน่งเลขานุการหรืองานที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกันส่วนมากไม่มีข้อกำหนด คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าทำงานว่าต้องมีความสามารถในการใช้ชวเลขนอกจากนั้น การเรียนการสอนชวเลขในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เริ่มลดจำนวนลงเพราะขาดแคลนครูผู้สอน จึงทำให้ชวเลข เป็นภาษาหรือวิชาที่กำลังจะหายไป คงเหลือไว้สำหรับผู้ที่สนใจจริง ๆ หรือผู้ที่ต้องทำหน้าที่เฉพาะด้านในการข่าว การทหาร และการสงคราม หรือนักภาษาศาสตร์ที่ต้องการพัฒนาภาษาชวเลขของไทยให้ยังคงอยู่ไว้เท่านั้น

การเรียนการสอนชวเลขในสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสมควรได้ รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะชวเลขเป็นศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนสามารถพัฒนาความคิดในการใช้คำ ย่อของตนเองขึ้นสำหรับการสื่อสารภายในตัวบุคคล หรือการสื่อสารกับตนเอง (Intrapersonal Communication) ซึ่งนับวันการบันทึกข้อมูลลับ สร้างข้อมูลเฉพาะตน หรือสร้างรหัสลับสำหรับการบันทึกข้อมูล และส่งข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะมีความสำคัญมากขึ้น สมรรถนะทางการใช้ภาษาและคิดสร้างภาษาเชิงสัญลักษณ์จากการเรียนชวเลขอาจช่วย พัฒนาความคิดสำหรับการสร้างรหัสเพื่อการสื่อสารด้วยข้อมูลเชิงสัญลักษณ์ในอนาคตอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์