วันนี้ขออภัยในความไม่สะดวกนาน 4 ชั่วโมง รวม 6 เดือน รถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง 28 ครั้ง เฉพาะเดือนมิ.ย.ทำสถิติแล้ว 9 ครั้ง บางวันขัดข้องซ้ำ 2 รอบ
ชีวิตคนกรุงที่อาศัยรถไฟฟ้าไปทำงาน ทำธุระ สะดวกสบาย แอร์เย็น รอไม่นาน ตามราคาค่าตั๋วรถไฟฟ้าที่แพงกว่ารถเมล์ แต่เมื่อรถไฟฟ้าขัดข้อง ขบวนรถล่าช้า ก็ทำให้ชีวิตโกลาหล โดยเฉพาะถ้าขัดข้องช่วงเช้าเร่งไปทำงาน คนทำงานออฟฟิศ ต้องตอกบัตร สแกนนิ้ว หลายคนไปไม่ทันเวลาต้องถูกหักเงิน สุดจะเครียด
ผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ความโกลาหลรถไฟฟ้าบีทีเอสล่าสุดวันนี้ (25 มิ.ย.61) ทำสถิติขัดข้องยาวนานกว่าทุกครั้ง คือเกือบ 4 ชั่วโมง ในช่วงเช้า จากปกติขัดข้องเฉลี่ย 15-30 นาที
ส่วนวันนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 06.15-10.03 น. ตามที่บีทีเอสชี้แจงผ่านเสียงตามสายในสถานีต่าง ๆ และในสื่อของบีทีเอส คือ ระบบอาณัติสัญญาณในสายสีลมและสายสุขุมวิทขัดข้อง ทำให้ขบวนรถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำ ช่วงต้นขบวนรถล่าช้าประมาณ 15 นาที ทำให้ช่วงก่อน 8 โมงเช้า ผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก หลายสถานีผู้โดยสารยืนรอคิวยาวจนถึงบันไดทางขึ้น พอช่วงสาย ๆ เฉลี่ยขบวนรถล่าช้า 10 นาที แม้จะผ่านช่วงชั่วโมงเร่งด่วนแล้ว แต่ผู้โดยสารก็ยังคงแน่นในตู้รถโดยสาร
...
ย้อนไปดูสถิติความขัดข้องของบีทีเอสเฉพาะ 1-25 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกิดขึ้นถึง 8 วัน แต่บางวันขัดข้อง 2 ครั้ง รวม 9 ครั้ง ถ้าไปดูในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เดือนนี้มากที่สุด โดยพบว่า เดือน พ.ค.ขัดข้อง 3 ครั้ง เดือน เม.ย. 3 ครั้ง เดือน มี.ค.4 ครั้ง เดือน ก.พ.7 ครั้ง และเดือน ม.ค.2 ครั้ง รวม 1 ม.ค.-25 มิ.ย. รวม 28 ครั้ง
สาเหตุที่บีทีเอสขัดข้อง เช่น ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง จุดสับรางขัดข้อง ประตูชานชาลาขัดข้อง
สำหรับยอดผู้โดยสารรวมของบีทีเอส ในรอบ 1 ปี 2560/61 (1 เม.ย.60-31 มี.ค.61) มีจำนวน 241.2 ล้านเที่ยวคน (1 คนอาจเดินทางหลายเที่ยว) หรือเฉลี่ย 660,521 เที่ยวคนต่อวัน เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ มากถึง 700,000 เที่ยวคนต่อวัน
ส่วนค่าโดยสารบีทีเอส เช่น ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียว จากสถานีหมอชิตไปสำโรง 59 บาท หรือหากนั่งสถานีเดียวขั้นต่ำคือ 16 บาท