เงื้อง่ามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ในที่สุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ประกาศให้โรคติดเกม (Gaming Disorder) เป็นอาการทางจิตประเภทหนึ่ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไป
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เคยให้ข่าวเมื่อปลายปีที่แล้วว่า กำลังพิจารณากำหนดอาการติดเกม ถือเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง จนล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ WHO ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า โรคติดเกมถือเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง
ในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรค (The International Classification of Diseases) ประจำปี 2561 ระบุ โรคติดเกมเป็นอาการติดเกมจนควบคุมไม่ได้ โดยผู้ป่วยจะเลือกที่จะเล่นเกมเป็นอันดับแรก ไม่สนใจกิจกรรมอื่นใด แม้กระทั่งกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และยังคงเล่นเกมต่อไป แม้การเล่นเกมนั้น จะส่งผลกระทบด้านลบต่อตัวเองและบุคคลแวดล้อม
การบรรจุโรคติดเกมลงไปในคู่มือวินิจฉัยโรคของ WHO ทำให้อาการติดเกมถูกจัดเข้าไปใน หมวดหมู่เดียวกับอาการเสพติดรุนแรงอื่นๆ เช่น ติดเหล้า ติดยา อันนำไปสู่ประเด็นข้อขัดแย้งที่ว่า ทาง WHO ตัดสินใจเร็วเกินไปหรือไม่
...
WHO ชี้แจงด้วยว่า อาการติดเกมจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ และผู้ที่จะถูกวินิจฉัยว่าติดเกมจะมีไม่มากนัก โดยจะอยู่ในกลุ่มของคนที่ติดพันอยู่ในโลกดิจิทัลและหมกมุ่นอยู่กับเกมที่อยู่บนโลกออนไลน์เท่านั้น
ฝั่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่าง ดร.เควิน กิลลิแลนด์ นักจิตวิทยา เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า WHO ตัดสินใจเร็วเกินไป ควรคิดให้รอบคอบกว่านี้ ด้วยการศึกษางานวิจัยให้รอบด้าน เนื่องจากงานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถนำไปสู่มาตรฐานใดๆที่จะกำหนดได้ว่าอาการติดเกมขนาดไหนจึงจะเรียกได้ว่าเป็นโรค
ดังนั้น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ที่มีบุตรหลานหรือคนใกล้ตัวชอบเล่นเกม ก็ไม่ควรต้องวิตกกังวลไปก่อนกาลอันควร เบื้องต้นอาการติดเกมที่บ่งชี้ว่าเป็นโรค คงต้องกระทบต่อชีวิตประจำวันในลักษณะรุนแรงไม่ต่างจากคนติดเหล้าหรือยาเสพติด
นั่นคือไม่หลับ ไม่นอน ไม่กิน ไม่ทำอะไร นอกจากเล่นเกม รวมทั้งไม่ทำการบ้านและไม่ทำงานในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่
ส่วนคนที่ชอบเล่นเกมปกติ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ชอบทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ติดซีรีส์ Game of Thrones ดูติดต่อกัน 6 ซีซัน ไม่หลับไม่นอน สิ่งนี้ไม่ใช่โรค แต่เป็นการกระทำหรือการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น
บีบีซีไทยรายงานด้วยว่า ผลสำรวจนักเล่นเกม 500 คน โดยบริษัทความปลอดภัยด้านไอที ESET พบว่ามีนักเล่นเกม 10% ที่ยอมรับว่าใช้เวลาวันละ 10-24 ชั่วโมงนั่งติดหน้าจอ แต่ไม่พบผลเสียทางสุขภาพจิตที่ชัดเจน
เมื่อปี 2559 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารจิตเวชศาสตร์อเมริกัน (American Journal of Psychiatry) พบว่ามีผู้เล่นเกมเป็นประจำทั้งชายและหญิงจากทวีปยุโรปและอเมริกาเพียง 2-3% จากที่สำรวจทั้งหมด 19,000 คนเท่านั้น ที่ได้คะแนนในแบบสำรวจอาการความผิดปกติ ทางสุขภาพจิตมากกว่า 5 คะแนนขึ้นไป ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รวมถึงความวิตกกังวลเกินเหตุ มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม และมีอาการ “ลง แดง” คล้ายคนติดเหล้าเมื่อไม่ได้ดื่ม.