จากกรณีกรมราชทัณฑ์ของไทย ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาล ด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าโหด นายดนุเดช หรือน้องช้าง สุขมาก อายุ 17 ปี เพื่อชิงโทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ ที่ จ.ตรัง เมื่อปี 2555 จนนับเป็นการประหารชีวิตนักโทษคนแรกในรอบ 9 ปีของไทย
การประหารชีวิตครั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.61 ยังเป็นการประหารนักโทษเด็ดขาด ด้วยวิธีการฉีดยา หรือสารพิษให้ตาย เป็นรายที่ 7 ของไทย นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตาย เป็นการฉีดสารพิษ
ท่ามกลางความแปลกใจของคนไทย เมื่อได้ยินข่าวกรมราชทัณฑ์เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตนักโทษจากยิงเป้า มาเป็นการฉีดสารพิษ ซึ่งถือเป็นวิธีที่ได้รับการยินยอมจากหลายประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ ว่าเป็นการประหารที่ไม่เจ็บปวด ไม่ทรมานนั้น หากเราติดตามข่าวสารต่างประเทศ จะพบว่า วิธีการประหารชีวิตของนักโทษในต่างประเทศ ที่ปัจจุบัน ยังคงใช้อยู่มีหลายวิธี
...
*แขวนคอ
การประหารนักโทษด้วยการแขวนคอ ถือเป็นหนึ่งในวิธีการประหารนักโทษขั้นเด็ดขาดที่ใช้วิธีการธรรมดามากที่สุดในบรรดาวิธีการประหารทั้งหมด โดยยังคงมีหลายประเทศ ใช้วิธีการประหารนักโทษด้วยการแขวนคอ อาทิ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ อิรัก อิหร่าน อินเดีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
* การยิงเป้า
การยิงเป้าประหารชีวิตนักโทษ ยังคงเป็นหนึ่งในวิธีการที่ธรรมดาที่สุดเช่นกัน โดยวิธีการประหารด้วยวิธีการยิงเป้านั้น มีทั้งยิงโดยเพชฌฆาตที่ลงมือเพียงคนเดียว โดยเจ้าหน้าที่ตั้งศูนย์ปืนทำหน้าที่ปรับตั้งศูนย์ให้ตรงกับหัวใจของนักโทษ ซึ่งการประหารวิธีด้วยการยิงเป้านี้ยังมีในประเทศจีน
- ยิงด้วยทีมเพชฌฆาต หรือทีมประหารมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งยังใช้ในประเทศอินโดนีเซีย
- ยิงด้วยอาวุธที่มีประสิทธิภาพร้ายแรงมากขึ้น อย่างเช่น ปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งตามรายงานของสื่อต่างชาติ อย่าง ซีเอ็นเอ็น ฟอกซ์นิวส์ เผยว่า การประหารชีวิตนักโทษโดยการยิงปืน ปตอ.หรือปืนต่อสู้อากาศยาน เกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ
*ฉีดสารพิษ
ประเทศแรกที่ใช้วิธีประหารชีวิต ด้วยการฉีดสารพิษนั้น คือสหรัฐฯ เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2525 จากนั้น ได้มีอีกหลายประเทศ รวมทั้ง จีน และไทย ใช้วิธีการนี้ ซึ่งเป็นการฉีดสารพิษเข้าสู่เส้นเลือด 3 ขั้นตอน
ตามข้อมูลของเว็บไซต์ deathpenaltyinfo ระบุว่า มีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2519 จำนวน 1,300 ราย และมี 33 รัฐ อาทิ แอละบามา แอริโซนา ฟลอริดา ไอดาโฮ ใช้วิธีการประหารโดยฉีดสารพิษ
*นั่งเก้าอี้ไฟฟ้า
การประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดด้วยการให้นั่งบนเก้าอี้ไฟฟ้า ยังคงมีใช้กันอยู่ในหลายรัฐของอเมริกา ซึ่งแต่ละรัฐกำหนดกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยตัวเข้านักโทษไม่เท่ากัน โดยนายวิลเลียม เคมม์เลอร์ พ่อค้าขายผลไม้ชาวอเมริกันในรัฐนิวยอร์ก เป็นนักโทษรายแรกที่ถูกประหารชีวิต โดยเก้าอี้ไฟฟ้าที่เรือนจำ Auburn เมื่อ 6 สิงหาคม 2493
นอกจากหลายรัฐในสหรัฐฯ ที่ใช้วิธีประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าแล้ว ฟิลิปปินส์ ยังเป็นอีกประเทศที่ใช้วิธีนี้ ในขณะที่ปัจจุบัน ยังมีบางรัฐของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนวิธีการประหารจากเก้าอี้ไฟฟ้ามาเป็นการฉีดสารพิษ ตามคำร้องของนักโทษ หรือไม่ก็อาจเปลี่ยนวิธีการประหารจากฉีดสารพิษมาเป็นให้นั่งเก้าอี้ไฟฟ้า หากการฉีดสารพิษไม่สามารถทำได้
...
*รมก๊าซ
การประหารชีวิตด้วยการรมก๊าซ ทำให้เราย้อนนึกถึงวิธีการสังหารหมู่ชาวยิวของนาซี-เยอรมนี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยขณะนี้ มีเพียงสหรัฐฯ และลิทัวเนีย ที่ใช้วิธีการประหารด้วยวิธีนี้
ทั้งนี้ ปี 2558 รัฐโอกลาโฮมา เป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ใช้ก๊าซไนโตรเจนในการประหารชีวิตนักโทษ หลังสภารัฐโอกลาโฮมาผ่านร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนนเอกฉันท์
กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายให้ใช้วิธีการประหารด้วยการรมก๊าซไนโตรเจน มองว่าเป็นวิธีการประหารชีวิตที่มีมนุษยธรรมและทำให้ตายอย่างไม่ทรมาน อีกทั้งไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เป็นผู้ลงมือ
สำหรับการประหารชีวิตในห้องรมก๊าซไนโตรเจน จะเป็นวิธีการประหารชีวิตสำรองวิธีแรกของรัฐโอกลาโฮมา หากวิธีประหารด้วยการฉีดสารพิษถูกศาลสูงพิพากษาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่สามารถจัดหาสารพิษได้
...
*ตัดหัว
วิธีการประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ถือเป็นการประหารที่ใช้กันมาในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในอุปกรณ์ตัดคอที่ดังที่สุดในอดีต คือ กิโยตีน ซึ่งฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ใช้กิโยตีนประหารนักโทษ ด้วยวิธีนี้
ขณะที่ ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่มีการลงโทษประหารชีวิต ด้วยการตัดหัวนักโทษเด็ดขาด โดยใช้ดาบ...!!
ทั้งนี้ ตามรายงานของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งพยายามเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกยุติโทษประหาร ระบุว่า เมื่อปี 2560 ยังมีการตัดสินโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 2,591 ครั้ง ใน 53 ประเทศ ส่วนมากเป็นนักโทษในคดียาเสพติด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฏหมายระหว่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริการเหนือ
โดยในปี 2560 จีน เป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตนักโทษมากที่สุด จำนวน 1,000 คน รองลงมา คือ อิหร่าน มากกว่า 507 คน และอันดับ 3 ซาอุดีอาระเบีย มากกว่า 146 คน
Cr :ภาพจากยูทูบ