สนช.ถกร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้ง กมธ. 38 คน ก่อนให้ความชอบภายใน 7 ก.ค. "วิษณุ" ย้ำต้องปฏิบัติตามเพื่อไปในทิศทางเดียวกัน "กอบศักดิ์" ชี้เพื่อสอดรับการแข่งขัน พัฒนาประเทศใน 20 ปีข้างหน้า
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 61 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ
โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะบังคับใช้ประมาณ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2580 ช่วงเวลา 20 ปี อาจจะยาวนานจนเกิดความวิตกว่า จะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้กฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่า 1. ต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี 2. ในระหว่าง 5 ปี ถ้ามีเหตุการณ์บ้านเมือง หรือสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน สามารถจะยกขึ้นมาพิจารณาและแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจะแจ้งมายังคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เพื่อขอดำเนินการแก้ไข จึงไม่เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคต จนไม่สามารถทำอะไรได้แต่อย่างใด การที่ประเทศมีความมั่นคงในด้านต่างๆ ทั้งกายภาพและจิตใจ เหมือนเด็กที่ได้รับการหล่อหลอมถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู ภายใต้การดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ที่น่าจะวางใจได้ว่าเมื่อเด็กคนนี้บรรลุนิติภาวะมีอายุ 20 ปี ถึงวัยจะบวชเรียนก็บวชเรียนได้ ถ้าจะแต่งงานก็แต่งได้ ถ้าจะเรียนจบก็จบปริญญาตรีแล้ว ดังนั้น คนเหล่านั้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในสังคมต่อไป
...
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เมื่อยุทธศาสตร์ชาติยังบังคับใช้อยู่ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากจะไม่ปฏิบัติตามต้องแก้ไขหรือปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติก่อน ยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดมี 6 ด้าน โดยประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้วจะมีผล 5 ประการ ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติได้รับการนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย 1. ผูกมัดรัฐบาลในการที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในเวลาจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ นโยบายดังกล่าวต้องไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ 2. ผูกพันแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 3. การจัดทำแผนอื่นใดที่เป็นแผนแห่งชาติ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 4. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากนี้ไป ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ 5. แผนการปฏิรูปประเทศ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชาติวันนี้เสนอเข้ามายังสภาจำนวน 71 หน้าเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดของโครงการ เราจะไม่พบว่ารถไฟความเร็วสูงยาวกี่กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพราะต้องไปทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่อไปกันอีกในอนาคต โดยแผนแม่บทจะต้องนำเสนอต่อสภาอีกครั้ง ดังนั้นยังมีขั้นตอนที่ต้องทำงานต่อไปอีก คาดว่าแผนแม่บทน่าจะยกร่างเสร็จภายใน 2 เดือน
ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็จะเสนอโครงการใหม่ และยกเลิกโครงการเดิม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการสำคัญๆต่อได้ ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา พบว่าเศรษฐกิจของไทยโตเพียง ร้อยละ 1 ในขณะที่เพื่อนบ้าน โตร้อยละ 5-6 ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ได้ ส่งผลต่อไปยังการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ในหลายประเทศก็มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงจีนก็มีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ดังนั้นการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ประเทศไทยได้มีความพร้อมสอดรับกับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า
จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดย สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ แต่เห็นว่ายังไม่มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน และควรให้มีการบูรณาการการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ กับหน่วยงานราชการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งบรรจุแผนยุทธศาสตร์ชาติ เข้าไปในแผนแม่บทด้วย โดยเฉพาะโครงการที่สำคัญๆ และควรสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนว่ายุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นของประชาชนทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้น โดยใช้เวลา 4 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบ จำนวน 38 คน กำหนดเวลาพิจารณาภายใน 22 วัน โดยมีการประชุมนัดแรกวันนี้(15 มิ.ย.) และเสนอกลับมาสภาฯ ให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 7 ก.ค.