(ภาพจากยูทูบ)

วิตกภาวะโลกร้อน..นักวิทยาศาสตร์มะกัน เผย ช่วง 25 ปี แผ่นน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกา ละลายหายไปแล้วถึงราว 3 ล้านล้านตัน โดยเฉพาะช่วง 5 ปีหลัง กำลังละลายเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า

เมื่อ 14 มิ.ย.61 เว็บไซต์ abcnews รายงานเหตุการณ์ที่สร้างความหวั่นวิตก เมื่อทีมสำรวจน้ำแข็งนานาชาติ รายงานผลการศึกษาใหม่พบว่า แผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา บริเวณขั้วโลกใต้ กำลังละลายอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา แผ่นน้ำแข็งในบริเวณนี้ได้หายไปแล้วถึงประมาณ 3 ล้านล้านตัน

ทีมนักสำรวจชุดนี้ยังพบว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งบนทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของขั้วโลกใต้ และถือเป็นกุญแจบ่งชี้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบนโลก ได้ละลายกลายเป็นน้ำไปเป็นปริมาณมากพอจะท่วมรัฐเทกซัสให้จมมิด ในระดับสูงถึง 4 เมตร ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคำนวณว่า ปริมาณน้ำที่ละลายจากแผ่นน้ำแข็งบนมหาสมุทรแอนตาร์กติกา ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 3/10 นิ้ว หรือ 7.6 มิลลิเมตร

น่าวิตก นาซาเผยแพร่ภาพ แผ่นน้ำแข็งบนทวีปแอนตาร์กติกาละลาย เมื่อพ.ย.2560
น่าวิตก นาซาเผยแพร่ภาพ แผ่นน้ำแข็งบนทวีปแอนตาร์กติกาละลาย เมื่อพ.ย.2560

...

การศึกษาใหม่ในครั้งนี้ซึ่งถูกนำมาตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2535-2554 ทวีปแอนตาร์กติกาได้สูญเสียน้ำแข็งที่ละลาย เกือบ 84,000 ตันต่อปี และจากปี 2555-2560 อัตราการละลายของแผ่นน้ำแข็งในบริเวณนี้ ได้มีอัตราละลายสูงขึ้นมากกว่า 241,000 ตันต่อปีเลยทีเดียว

‘ฉันคิดว่าพวกเราควรรู้สึกวิตกกังวล แต่ไม่ใช่หมายถึงให้เราหมดหวัง’ Isbella Vellcogna แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 88 นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมเขียนรายงานนี้ กล่าวในขณะที่ Ian Joughin นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า แผ่นน้ำแข็งทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาเป็นพื้นที่เกิดการละลายมากที่สุด

ทั้งนี้ การศึกษาการละลายของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาในครั้งนี้ เป็นการประเมินครั้งที่ 2 ตามแผนซึ่งดำเนินการมาหลายปี โดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่กำลังทำงานร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) รวมถึงสำนักงานอวกาศยุโรป โดยมีภารกิจเพื่อติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับแผ่นน้ำแข็งอ่อนแอที่พร้อมจะละลายของโลก ทั้งทวีปแอนตาร์กติกา บริเวณขั้วโลกใต้ และกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนเหนือสุดขั้วโลก.

อ่านข่าว