4 ปี รัฐบาล คสช. ทุ่มงบเกือบ 5 หมื่นล้าน ซื้ออาวุธจากมหามิตร จีน อ้าง เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บ 'กองทัพ' ยุคคสช. ทั้งซื้อ 'รถถัง รุ่น VT4' ซื้อเรือดำน้ำรุ่น เอส 26 ที
ย้อนรอย ไปเมื่อปี 2558 กองทัพบก ซื้อ รถถัง รุ่น VT4 ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยบริษัท Norinko เป็นผู้ผลิต และขายให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก นับตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจของ คสช. มีการอนุมัติซื้อรถถังสองครั้ง โดยมีอนุมัติซื้อรถถังแบบ VT-4 จากจีน จำนวน 28 คัน วงเงิน 4,985 ล้านบาท และในปี 2560 ก็มีการอนุมัติซื้อรถถังรุ่นเดียวกันในลอตที่ 2 จำนวน 10 คัน มูลค่า 2,017 ล้านบาท
โดยไทยจะต้องซื้อรถถัง รถถัง VT-4 จากจีน อีก 11 คัน เพื่อให้ครบ 1 กองพัน (ซึ่งจะประกอบด้วยรถถัง จำนวน 49 คัน) ใช้เงินลงทุนอีกประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท
รถถังดังกล่าว เป็นรถถังหลักรุ่นส่งออกที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูงที่สุดที่ประเทศจีนมี ส่วนเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไทย ตัดสินใจซื้อรถถัง VT-4 ก็เนื่องจากเป็นการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) เพื่อแสดงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไทยกับจีน และเป็นการซื้อเพื่อทดแทนรถถังแบบ OPLOT จากประเทศยูเครน ที่ส่งไม่ครบตามสัญญา
...
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา กองทัพบก มีการทดสอบโชว์สมรรถนะรถถัง VT-4 ในการต่อสู้ข้าศึกในระยะ 1,100 เมตร ของรถถัง VT-4 สัญชาติจีน ลอตแรก 28 คัน ที่ทางการจีน ส่งมอบให้กับกองทัพบกเมื่อปลายปีที่แล้ว จัดแสดงให้รับที่บริเวณลานกว้างของค่ายอดิศร ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี โดยกระสุนเจาะเกราะ จากปลายกระบอกปืนใหญ่ สามารถทำลายล้างเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
นอกจากการยิงกระสุนปืนใหญ่แล้ว กองทัพบก ยังได้โชว์สมรรถนะปืนกล การยิงกระสุนควันพรางตัว หลังระบบตรวจจับสิ่งแปลกปลอม พบรถถังฝ่ายตรงข้าม รวมถึงสมรรถนะทั่วไป เช่น การวิ่งผ่านส่งกีดขวาง เนินลาดชัน 60 องศา และการดำน้ำลึกไม่เกิน 1.50 ซม. โดยกองทัพบกยืนยันสมรรถนะทั้งหมดมีความพร้อมใช้ในสงคราม และตอบโจทย์การสู้รบของประเทศไทย ขณะที่ พลขับประจำรถถัง VT4 ยอมรับว่า ระบบเทคโนโลยีในรถถังรุ่นนี้ทันสมัยมาก
ส่วนกองทัพเรือ ซื้อเรือดำน้ำ รุ่น หยวน คลาส เอส 26 ที หรือ Yuan ClassS26T เป็นเรือดำน้ำขนาดกลาง ยาว 77.6 เมตร กว้าง 8.4 เมตร กินน้ำลึก 6.7 เมตร มี 1 ใบจักร ความเร็วผิวน้ำ 16 นอต ความเร็วสูงสุดขณะดำน้ำ 23 นอต
เครื่องยนต์ใช้เทคโนโลยี AIP หรือ Air Independent propulsion เป็นระบบใช้เครื่องยนต์ดีเซล แบบใช้อากาศหมุนเวียน มีออกซิเจน และเชื้อเพลิงอยู่ในตัวเรือดำน้ำเอง เป็นระบบเครื่องยนต์ไม่ต้องพึ่งพาอากาศจากผิวน้ำ เพื่อยืดเวลาขึ้นสู่ผิวน้ำและการเข้าซ่อมบำรุงในฝั่ง ทำให้การขับเคลื่อนมีความเงียบ สามารถดำอยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลานาน 21 วัน หรือ ประมาณ 3 สัปดาห์
ทั้งนี้ สามารถติดตั้งระบบอาวุธนำวิถี สามารถยิงใส่เป้าหมาย ทั้งใต้น้ำและบนฝั่ง มีท่อยิงตอร์ปิโด 6 ท่อ สามารถติดตั้งระบบอาวุธตอร์ปิโดและทุ่นระเบิด อายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 30 ปี มีระวางขับน้ำ 2,600 ตัน ใช้เวลาต่อประมาณ 5-6 ปี ใช้กำลังพลประจำเรือพรรค หรือ ฝ่ายต่างๆ ประมาณ 60 นาย พร้อมโหลดเสบียงอาหาร และน้ำดื่มเพียงพอต่อการออกปฏิบัติการเต็มเวลา
เรือดำน้ำ หยวน คลาส เอส 26 ที พัฒนามาจากเรือดำน้ำชั้นกิโลของรัสเซีย ส่วนเครื่องยนต์จะใช้ของประเทศตะวันตก โดยกองทัพเรือไทย จะซื้อตามแผน จำนวน 3 ลำ ลำละ 13,500 ล้านบาท มูลค่ารวมประมาณ 40,500 ล้านบาท ขณะนี้อนุมัติซื้อแล้วเรียบร้อย จำนวน 1 ลำ อีก 2 ลำ ที่เหลือ ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ที่คาดว่า จะมาในปี 2562 หลังมีการเลือกตั้งช่วงต้นเดือนกพ. ปี 62 ตามโรดแม็ป คสช.