เด็ก ม. 4 หัวใจทระนง เรียนดีเกรด 4 ทุกวิชาตั้งแต่ ป.2 จนถึง ม. 1 แต่ฐานะยากจน หลังเลิกเรียน ต้องทำงานฟาร์มวัว สานหวด และรับจ้างอื่นๆ ช่วยพ่อแม่ หาเงินประทังชีวิตตนเองและจุนเจือครอบครัว...

เรื่องราวของเด็กหนุ่มสู้ชีวิต ผู้ที่ไม่ยอมให้ “ความยากจน” มาบั่นทอนจิตใจ จนรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง หรือหมดพลังใจในการสร้างฝันเป็น “นักบัญชี” ของ นายปาณัสม์ คล้ายกับคำ หรือ น้องนัท อายุ 16 ปี นักเรียน โปรแกรม วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์. ม.4 ห้อง 1 โรงเรียนหนองวัวซอพิทยาคม จังหวัดอุดรธานีนี้ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้รับการเปิดเผยจากนางจันทร์แดง สิทธิบูรณ์ ครูชำนาญการพิเศษ งานแนะแนวการศึกษา และเป็นผู้ดูแลทุนการศึกษาของมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (มูลนิธิ EDF : Education for Development Foundation) ที่น้องนัทได้รับทุนการศึกษาปีละ 5 พันบาท

น้องนัทกับอาจารย์แดงผู้ดูแลทุนการศึกษา
น้องนัทกับอาจารย์แดงผู้ดูแลทุนการศึกษา

...

“เขาเก่ง ดำรงชีวิตอยู่ได้เหมือนคนอื่น ไม่เอาฐานะยากจนมาเป็นปมด้อย นิสัยดี เรียบร้อย ฉลาด ขยัน ตั้งใจเรียน ไม่โดดเรียน เวลาว่างก็ทำการบ้าน ไม่เกี่ยงงาน ตอนเย็นก็ไปทำงานที่ฟาร์มวัว เด็กวัยนี้ไม่น่าจะต้องมาทำงานแบบนี้ได้ ต้องอายและไม่กล้าทำ บางคนมีฐานะร่ำรวย แต่ไม่ตั้งใจเหมือนเขา” อาจารย์จันทร์แดงกล่าวชื่นชม

หัวดี ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนพิเศษ เก่งระดับที่ 1 ของโรงเรียน

ด้วยฐานะที่ยากจน พ่อ แม่ มีอาชีพรับจ้างรายวันทั่วไป เป็นแรงผลักดันให้น้องนัทรู้สึกไม่อยากลำบากพ่อแม่ จึงต้องพยายามมากกว่าคนอื่นๆ อีกหลายเท่า ด้วยการขยันและตั้งใจเรียนจนสอบได้เกรด 4 ในทุกวิชา ตั้งแต่เรียนชั้น ป. 2 จนถึง ม. 1 และในระดับ ม.ต้น ผลการเรียนก็ไม่เคยต่ำกว่า 3.83 โดยก่อนที่จะมาเรียน ม.ปลายที่โรงเรียนหนองวัวซอพิทยาคมนั้น น้องนัท จบ ม.3 ด้วยเกรด 3.95 จากโรงเรียนขยายโอกาสประจำหมู่บ้าน

ร่างกายตัวเล็ก จนนึกว่าเป็นเด็กประถมฯ ทั้งๆ ที่ ปัจจุบันเรียนอยู่ ม. 4
ร่างกายตัวเล็ก จนนึกว่าเป็นเด็กประถมฯ ทั้งๆ ที่ ปัจจุบันเรียนอยู่ ม. 4

ผู้สื่อข่าวถามมีเทคนิคเรียนเก่งอย่างไร น้องนัทถ่ายทอดแนวคิดว่า “จำ ฟังคุณครู จดไว้ ไม่มีใครเก่งมาแต่กำเนิด แต่ถ้ามีความขยัน ยังไงก็จะเก่งขึ้นมาเอง ขอแค่ขยัน”

ทั้งนี้อาจารย์จันทร์แดงกล่าวย้ำความเก่งของน้องนัทด้วยว่า มีความโดดเด่นทางคณิตศาสตร์ คิดเร็วมาก หัวดี ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนพิเศษอะไร เก่งระดับที่ 1 ของโรงเรียน เมื่อถูกคัดเลือกเป็นตัวแทนโรงเรียนไปสอบแข่งขันทักษะด้านการเรียนต่างๆ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ก็คว้ารางวัลมาทุกครั้ง

เลิกเรียนทำจนถึงหกโมง เสาร์ อาทิตย์ทำงานตั้งแต่ตีห้า หาเงินจุนเจือครอบครัว

ด้านความเป็นอยู่ น้องนัทอาศัยกับ พ่อ แม่ และพี่ชายในบ้านไม้ ใต้ถุนสูง สภาพทรุดโทรม มีมอเตอร์ไซค์เก่าๆ ที่พ่อกับแม่ใช้ในการเดินทางไปทำงาน รับจ้างรายวัน ตามที่ต่างๆ เช่น ตัดอ้อย ตัดมันสำปะหลัง ส่วนพี่ชายลาออกจากโรงเรียน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และช่วยพ่อแม่ทำงานรับจ้างอีกแรงหนึ่ง 

หลังเลิกเรียน และในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ รับจ้างทำงานในฟาร์มวัวนม
หลังเลิกเรียน และในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ รับจ้างทำงานในฟาร์มวัวนม

...

ส่วนน้องนัทเองก็ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน และในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ทำงานรับจ้างทุกอย่างที่ได้เงินเพื่อหารายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ทั้งตัดอ้อย ตัดหญ้า สีข้าว สานหวดนึ่งข้าวเหนียว และฟาร์มวัวนม

“หลังเลิกเรียน กลับถึงบ้านซักชุดนักเรียนเสร็จก็ไปส่งนม ตั้งแต่สี่โมงครึ่งจนถึงหกโมงเย็น ถ้างานเยอะก็ได้เงินมา 100 ถ้างานน้อย 50 บาท เสาร์อาทิตย์ได้วันละ 150-200 บาท ทำตั้งแต่ตีห้า ให้อาหาร รีดนม ไปส่งนม ตัดหญ้า สีข้าว ได้เงินมาก็ให้แม่เก็บ” น้องนัทอธิบายหน้าที่ที่รับผิดชอบ

เชื่อฟังคำสอนพ่อแม่ มุทำงาน เก็บเงินซื้อเครื่องใช้ในการเรียน

นอกจากนี้น้องนัทยังเป็นเด็กกตัญญู เชื่อฟังคำสอนของพ่อ แม่ เมื่ออยากได้สิ่งใดก็ทำงานเก็บเงินซื้อเอง ทั้ง โทรศัพท์มือถือ หนังสือ กระเป๋า เครื่องใช้ในการเรียน และอุปกรณ์การกีฬา

เวลาว่างก็ทุ่มเทให้กับการทำงาน จนไม่มีโอกาสได้เที่ยวเล่นตามวัย เหมือนเด็กคนอื่นๆ
เวลาว่างก็ทุ่มเทให้กับการทำงาน จนไม่มีโอกาสได้เที่ยวเล่นตามวัย เหมือนเด็กคนอื่นๆ

...

“ถ้าอยากได้อะไร ก็ต้องทำงานหาเงินซื้อเอง พ่อแม่สอนผมมาแบบนี้ครับ” น้องนัทพูดถึงคำสอนที่ยึดถือปฏิบัติมาตลอด

สำหรับการเดินทางไปโรงเรียน ตอนเรียนประถมศึกษา น้องนัทจะเดินเท้าไป-กลับ โรงเรียนที่อยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตรมื่อมาเรียนอยู่ ม. 4 ก็อาศัยติดรถมอเตอร์ไซค์เพื่อนข้างบ้านมาเรียน หากวันไหนเพื่อนไม่มาเรียน หรือไม่สบายก็ต้องอดเรียนด้วย

ผู้สื่อข่าวซักถามว่าเคยรู้สึกน้อยใจในโชคชะตาตัวเองหรือไม่ น้องนัทกล่าวตามความรู้สึกที่มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอว่า “ไม่เคยน้อยใจในโชคชะตา คนที่ลำบากกว่าผมก็มี” พร้อมเผยความคิดที่ช่วยเป็นกำลังใจยามเหนื่อยว่า

“ถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครทำ ถึงจะยากจน ถ้าไม่ท้อก็สู้ได้ต่อไป”...

ซื้อไม้ไผ่ลำละ 10 บาท เอามาสานหวด 3 ใบ ขายได้ใบละ 10 บาท
ซื้อไม้ไผ่ลำละ 10 บาท เอามาสานหวด 3 ใบ ขายได้ใบละ 10 บาท

...

บ้านไม้ ใต้ถุนสูง ที่น้องนัทอาศัยอยู่กับ พ่อ แม่ พี่ชาย
บ้านไม้ ใต้ถุนสูง ที่น้องนัทอาศัยอยู่กับ พ่อ แม่ พี่ชาย

ส่วนโรงเรียนหนองวัวซอพิทยาคมที่น้องนัทเรียนอยู่ ซึ่งนายอานน รักการ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการนั้น ทางโรงเรียนไม่มีเงินทุนที่จะดูแลเด็ก เพราะมีเด็กที่ยากจนเป็นจำนวนมาก นอกจากทางรัฐบาลจัดสรรให้ หรือมีผู้ใหญ่ใจบุญมามอบให้เป็นครั้งคราว

เรื่องราวนักสู้ชีวิตของน้องนัท ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความพยายามและมุ่งมั่นของเด็กนักเรียนยากจนคนหนึ่งในพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่ต่อสู้เพื่อความฝันเป็น “นักบัญชี” นอกจากพลังใจที่แข็งแกร่งของน้องนัทซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว หากไม่มี “ทุนเด็กยากจน” จากมูลนิธิ EDF ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 จนถึงปัจจุบัน น้องนัทคงสิ้นหวัง และหมดโอกาสสานต่อความฝันเพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ได้ต่อไป

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com  หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ