“ชอบปลูกผักไว้กินเองตั้งแต่เด็ก เลยศึกษาหาความรู้มาตลอดโดยเฉพาะตำราต่างประเทศ เมื่อย้ายมาออสเตรเลีย ปลูกผักอยู่บนที่ดินไม่ถึงไร่ เลี้ยงไก่ไข่ 20-30 ตัว ที่ว่างปลูกไม้ผลยืนต้น ส่วนหนึ่งกินเอง ที่เหลือส่งขายให้ร้านอาหารไทย จนผลผลิตเริ่มไม่พอขาย 3 ปีที่แล้ว จึงไปซื้อที่ดินราคาไม่แพงในเมืองไบรอนเบย์ ห่างจากซิดนีย์ 700 กม. อากาศคล้ายภาคเหนือไทย น่าจะปลูกได้ทั้งผักสวนครัวไทยและผักเมืองหนาว จึงทำมาถึงทุกวันนี้”
พลิสา แอนเดอร์สัน เจ้าของ Boon luck Farm ฟาร์มออร์แกนิกของคนไทย หนึ่งเดียวในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เล่าถึงที่มา ก่อนได้รับมาตรฐานออร์แกนิกออสเตรเลีย เมื่อปีที่แล้วทำฟาร์มในแบบหลัก เพอร์มาคัลเจอร์ วิถีทางการเกษตรที่เน้นเรื่องความยั่งยืนของชีวิตและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในหลักการเกษตรออร์แกนิกออสเตรเลีย...ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ พึ่งพากันและกัน อะไรที่เคยมีอยู่ จะไม่ไปปรับเปลี่ยนมาก ต้นไม้ใหญ่จะปล่อยไว้เป็นที่อาศัยของนก เพื่อคงสมดุลระบบนิเวศ เพราะนกบางชนิดช่วยกำจัดแมลง บางชนิดกำจัดงู หรือศัตรูพืชอื่นๆ
...
ปลูกพืชแบบพึ่งพิงกันและกัน เช่น ปลูกถั่วใกล้กับต้นไผ่หรือไม้ชนิดอื่น เพื่อใช้เป็นหลักให้ถั่วเลื้อย แล้วปลูกฟักทองหรือใช้ฟางข้าวคลุมดินป้องกันวัชพืชและรักษาความชุ่มชื้น...ถึงระยะเก็บเกี่ยว ตอฟักทอง ฟางข้าวใช้เป็นปุ๋ยให้ครอปต่อไป ส่วนสัตว์เลี้ยงแบบปล่อยอิสระไม่ให้เครียด เมื่อครบครอปจะย้ายที่เลี้ยง แล้วปลูกต้นพืชแทน
“เราปลูกผักสวนครัวแทบทุกชนิดที่ใช้ในอาหารไทยผักทั่วไปปลูกกลางแจ้งได้ แต่พืชหลักตลาดต้องการสูง อย่าง กะเพรา มะเขือพวง ใบชะพลู พืชกินใบ และไม้ผลราคาสูง เช่น ฝรั่ง จะปลูกในโรงเรือนขนาด 8 ไร่ สูงกว่า 10 เมตร เพื่อป้องกันศัตรูธรรมชาติ อาทิ หนู พอสซั่ม ไก่งวง หอยทาก รวมทั้งแมลงบางชนิด แต่เมื่อเข้าฤดูหนาว แม้ที่จะไม่หนาวขนาดหิมะตก ผักครัวไทยให้ผลผลิตน้อย จำเป็นต้องย้ายไปปลูกในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิให้อบอุ่น และปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผักเมืองหนาวแทน เพื่อจะได้มีรายได้เข้าฟาร์มตลอดปี”
ดินปลูกพืช ยึดหลักการ “ดินดีย่อมต้องมีมดแมลง” ต้นไม้ถึงสมบูรณ์ เพราะต้นไม้มีโรคสิ่งมีชีวิตมักไม่ค่อยอาศัยบริเวณใกล้เคียง ฉะนั้นจะปล่อยให้มีมด แมลงอยู่ในแปลง แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องป้องกันแมลงบางชนิด โดยใช้สาหร่ายผสมอีเอ็มสูตรเฉพาะฉีดพ่น ในอนาคตเตรียมทดลองนำน้ำส้มควันไม้แบบไทยๆเข้ามาใช้
...
ที่สำคัญจะไม่ขุดไถพรวนดิน เพราะจะทำให้สัตว์เหล่านี้รวมถึงไส้เดือน จุลินทรีย์ในดินตาย แต่จะปลูกพืชโดยขุดหลุมเล็กๆเฉพาะตรงที่ปลูก รองก้นด้วยขี้เลื่อย หรือคอมโพส (ปุ๋ยหมักชนิดผงจากมูลสัตว์ ซากพืชซากสัตว์ นิยมใช้ในต่างประเทศ)
สำหรับการตลาด ถ้าขายในละแวกเมืองไบรอนเบย์ จะใช้วิธีให้ลูกค้าไลน์หรือโทรศัพท์สั่งสินค้า ทางฟาร์มมีบริการส่ง ทำรายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,500 เหรียญออสเตรเลีย หรือ 37,500 บาท...ส่วนตลาดซิดนีย์ จะมีรถมารับสินค้าถึงฟาร์มสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 4,000 เหรียญ แค่ 1 แสนบาทเท่านั้นเอง.
...
กรวัฒน์ วีนิล