มร.ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ให้เกียรติส่งบทความเรื่อง “อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี เครื่องปกป้องของมวลมนุษยชาติที่ไม่ควรละเลย” ลงตีพิมพ์เผยแพร่ใน “ไทยรัฐ” มีแง่มุมที่น่าสนใจยิ่ง

ภาพนักการเมืองจับมือยิ้มร่า เสียงรัวชัตเตอร์กล้อง เซ็นเอกสาร ประทับตรา บรรดาผู้สื่อข่าวทั่วโลกพากันรายงานข่าวการลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศอีกฉบับ

การประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างประเทศ ข้อตกลง และสนธิสัญญาต่างๆ อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนทั่วไป จนชวนสงสัยว่า หรือนี่เป็นเพียงโอกาสให้ถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ มากกว่าจะเป็นความคืบหน้าสำคัญใด

แต่เรื่องเหล่านี้เองคือวิธีการตกลงกันว่าเราอยากมีชีวิตอยู่ในโลกแบบไหน นี่คือสัญญาที่เราต้องร่วมกันรักษา คำสัญญาและการลงมือปฏิบัติที่ประเทศไทย สหราชอาณาจักร และชาติอื่นๆร่วมกันดำเนินการ เหล่านี้คือรากฐานของระบบระหว่างประเทศที่จะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย เมื่อใดก็ตามที่มีฝ่ายผิดสัญญา หรือเมื่อสัญญาถูกละเลย ผลกระทบย่อมตกแก่เราทุกคน

อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีเป็นหนึ่งในสัญญาระหว่างประเทศเพื่อความปลอดภัยดังกล่าว แต่กลับมีสัญญาณน่ากังวลบ่งชี้ว่าเรากำลังหลงลืมสาเหตุที่เราได้ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้อนุสัญญาที่สำคัญยิ่งฉบับนี้บรรลุผล

อาวุธเคมีมีฤทธิ์ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เหยื่อขาดอากาศ ผิวหนังพุพอง และได้รับสารพิษ แม้ในกรณีที่ไม่ทำให้ถึงตาย ผลต่อร่างกายก็อาจรักษาไม่หายไปตลอดชีวิต ในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบมีการใช้อาวุธเคมีในสนามรบเป็นครั้งคราว ผลที่ตามมาล้วนน่าสะพรึงกลัว

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีการใช้อาวุธเคมีที่ทำให้เกิดผลทำลายล้างขั้นรุนแรง จากนั้นยังมีการใช้อีกในโมร็อกโก เยเมน จีน และอบิสซิเนีย (ปัจจุบันคือเอธิโอเปีย) อีกทั้งผลกระทบจากการใช้อาวุธเคมีในสงครามอิรัก-อิหร่านในช่วงทศวรรษ 1980 ก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

...

อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2540 ทำให้เกิดการสถาปนาองค์การห้ามอาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons-OPCW) ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดองค์กรอิสระไม่ฝักใฝ่การเมืองขึ้นในโลกเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อาวุธเคมี

192 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยและสหราชอาณาจักรได้ให้สัตยาบัน และได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีนี้.