'ดร.วรัชญ์ ครุจิต' มอง กสทช. ใช้เกณฑ์ประหลาด หลังแจงให้ใช้คำว่า "ไอเหี้_" ในสื่อโทรทัศน์ประเภทเรต ท.ทุกวัย ได้ถ้าใช้ไม่บ่อย พร้อมเตรียมทำเรื่องอุทธรณ์ขอให้ทบทวนการพิจารณาอีกครั้ง...

กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากบนโลกออนไลน์ สำหรับเรื่องการพิจารณาของ กสทช. ที่สามารถใช้คำหยาบ อย่าง "ไอเหี้_" ได้ในรายการโทรทัศน์ประเภทเรตทั่วไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การนิด้า ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงประเด็นที่เกิดขึ้นว่า เรื่องนี้อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการตัดสิน ต่อไปผู้ผลิตจะอ้างได้ว่า เป็นไปตามบริบทของละคร อย่างรายการประเภทเรต (ท.ทุกวัย) ต่อไปจะสามารถใช้คำหยาบได้ถ้าไม่บ่อย แต่จากการนับคำหยาบจากเรื่องดังกล่าวที่มีการแจ้งไปนั้น ภายใน 5 นาที มีการใช้คำไม่สุภาพอยู่ 92 ครั้ง รวมแล้ว 3 วินาทีจะได้ยินคำหยาบ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการจัดเกณฑ์ของ กสทช. ที่อ้างว่าใช้คำหยาบไม่บ่อย ถือเป็นเกณฑ์ที่ประหลาดมาก เพราะคนไทยจะรู้ดีถึงระดับของคำหยาบ แต่ กสทช.มองเหมือนกันหมดไม่ว่าจะหยาบมากหรือน้อย ทั้ง ไอบ้า, ไอเหี้_, ตอแ_ล คือหยาบเท่ากันหมด ขออย่าพูดบ่อยเท่านั้น ส่วนตัวมองเป็นเกณฑ์ที่ตลกมาก เพราะสื่อโทรทัศน์มีคนดูทั่วบ้านทั่วเมือง ต่อไปจะกลายเป็นว่าคำพวกนี้ไม่ใช่คำหยาบ เพราะยิ่งไม่มีการควบคุมจะทำให้ไปกันใหญ่ ความคิดของเด็กกลายเป็นว่าคำพวกนี้มันไม่หยาบ คิดว่าพูดได้ไม่เป็นไร 

ส่วนเรื่องของ 'เจ๊ปอง' เป็นเรื่องของรายการข่าวที่มีช่องโหว่ ว่ารายการข่าวควรถึงเวลาที่ต้องจัดเรตแล้วหรือเปล่า เพราะเดี๋ยวนี้รายการข่าวหลายช่อง นำเสนอเรื่องอะไรก็ไม่รู้ แล้ว กสทช.มีกฎข้อไหนบังคับได้บ้าง นอกจากมาตรา 37 ที่พูดเรื่อง ความมั่นคงต่อประเทศชาติ ศีลธรรมอันดี เพราะฉะนั้นไม่มีกฎถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว

...

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ร้องเรียนเรื่องรายการ/ละคร ที่มีการจัดเรตไม่ตรงความเหมาะสม อยากให้ลองคำนึงถึงคำว่า "ไอเหี้_" มันเหมาะสมกับคนทุกวัยหรือเปล่า เหมาะกับเด็กไหม อยากให้เป็นประเด็นที่มาคุยกัน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่ร้องเรียน แล้วจะเตรียมทำเรื่องร้องเรียนอุทธรณ์ต่อ เพราะว่าการพิจารณายังไม่เหมาะสม ขอให้มีการทบทวน

ทั้งนี้ อยากให้ กสทช. มีการทบทวนเรื่องการพิจารณาเรื่องเนื้อหา รวมทั้งเรื่องการประกาศจัดเรตติ้ง ที่มีออกมาหลายปีแล้ว อยากให้มีการปรับให้ทันสมัยขึ้นให้มันครอบคลุม แล้วก็เรียกสื่อและนักวิชาการมาให้ความเห็น เพื่อให้มันมีความสมดุลที่ไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ยังคงปกป้องเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่ดี.