หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) เป็นผลงานที่สำนักงาน ป.ป.ช. พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในกระบวนการการศึกษาของไทย
เพราะหลักสูตรต้านทุจริตศึกษามีวัตถุประสงค์ในการปลูกฝังและสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตให้สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนตนสิ่งใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีจิตพอเพียงต้านทุจริต ละอาย และเกรงกลัวที่จะไม่ทุจริตและไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบผ่านสถาบันการศึกษา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และสถาบันการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สถาบันการศึกษาในสังกัด ตช. สถาบันการศึกษาทางทหาร เป็นต้น ต่อเนื่องไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ครอบคลุมทั้งระบบการศึกษา
นอกจากนี้ยังรวมถึงหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับบุคลากรของรัฐและพนักงานรัฐวิสาหกิจในหน่วยงานภาครัฐ โดยแต่ละหลักสูตรประกอบด้วยเนื้อหา 4 ชุดวิชา ดังนี้
1.การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม
ชุดวิชาดังกล่าวเน้นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน โดยปรับเปลี่ยนระบบการคิดของคนในสังคมแยกแยะให้ได้ว่า “เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนตน... เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม” โดยนำวิธีคิดแบบฐาน 10 (Analog thinking) และฐาน 2 (Digital thinking) มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืน
2.ความละอายความไม่ทนต่อการทุจริต
เป็นชุดวิชาเกี่ยวกับการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพสังคมให้เกิดภาวะ “ที่ไม่ทนต่อการทุจริต” โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในทุกช่วงวัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตและปลูกฝังความพอเพียง มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นพลเมืองดี มีจิตสาธารณะ ผ่านทางสถาบันหรือกลุ่มตัวแทนที่ทำหน้าที่ในการกล่อมเกลาทางสังคม เพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ เกิดพฤติกรรมที่ละอายต่อการกระทำความผิด การไม่ยอมรับและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ
...
3.STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต
เป็นชุดวิชาที่ประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประกอบกับหลักการต่อต้านการทุจริตอื่นๆ เพื่อสร้างฐานคิดจิตพอเพียงต่อต้านการทุจริตให้เกิดขึ้นเป็นพื้นฐานความคิดของปัจเจกบุคคล โดยประยุกต์หลัก “STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต” ซึ่งคิดค้นโดยรองศาสตราจารย์ ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ในปี 2560 มาเป็นแนวทางในการพัฒนาวัฒนธรรมหน่วยงาน
4.พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม
พลเมืองศึกษาเป็นการจัดการศึกษาและประสบการณ์เรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศ มีความภูมิใจในความเป็นพลเมืองตนเอง มีสิทธิมีเสียง สนใจต่อส่วนรวม และมีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมืองตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับรัฐบาล รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระบบการเมือง การปกครองสิทธิและความรับผิดชอบของพลเมือง ระบบการบริหารจัดการสาธารณะและระบบตุลาการ
บัดนี้แรงผลักดันของ ป.ป.ช.กลายเป็นเรื่องจริงจังแล้วเมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบกับแนวทางนี้และอนุมัติให้ดำเนินการอย่างเต็มที่
มาดูกันถึงเรื่องเนื้อหาสาระและประเด็นในการอนุมัติของครม.ในวันพรุ่งนี้.
“ซี.12”