“ธีระเกียรติ” ไล่บี้เขตพื้นที่อีสานส่อทุจริตอื้อ ทั้งตกเขียวเงิน ร.ร.-ตั้งฎีกาเบิกซ้ำซ้อน 57 รายการ ล็อกสเปกจัดซื้อครุภัณฑ์พัฒนาทักษะ ม.ต้น-เรียกรับเปอร์เซ็นต์จาก ผอ.โรงเรียน ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงเจ้าหน้าที่พัสดุสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 5 วางฎีกาเบิกเงินซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการเดินหน้าตรวจสอบทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตามที่ได้มอบหมายให้ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ 11 จังหวัดภาคอีสาน ไปตรวจสอบเรื่องทุจริตต่างๆในพื้นที่ที่มีผู้ร้องเรียนและให้ข้อมูล ได้รับรายงานสรุปผลการตรวจสอบจาก พล.ท.โกศลว่า พบการทุจริตโครงการต่างๆของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนมาก บางกรณีมีความผิดชัดเจน มีหลักฐานพยานบุคคล ไม่จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว ดังนั้นจะมอบให้ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยทันที ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าทีมตนลงพื้นที่ใช้เวลาสืบสวนไม่นาน แต่เรื่องกลับไปติดกระบวนการที่ สพฐ. ดังนั้นต้องมีผู้รับผิดชอบ

“เรื่องทุจริตที่ตรวจสอบพบมีการดำเนินการไม่เป็นไปตามนโยบายของผม อย่างกรณีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 28 (ศรีสะเกษ-ยโสธร) มีการจัดซื้อครุภัณฑ์พัฒนาทักษะ ม.ต้น ชุดอุตสาหกรรม งบประมาณ 600,000 บาท ต่อมาโรงเรียน ถูกร้องเรียนว่ามีการล็อกสเปก ตรวจสอบเบื้องต้นเป็นลักษณะเหมือนเงินท็อปดาวน์ เป็นครุภัณฑ์พัฒนาทักษะพิเศษเท่านั้นไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน มีโรงเรียนหลายแห่งไม่ต้องการ และผมมีคำถามว่าชุดพัฒนาทักษะมีเฉพาะแค่ในกลุ่มภาคอีสานเพียงอย่างเดียว แล้วภาคอื่นๆไม่ต้องการใช่หรือไม่ เรื่องนี้ สพฐ.ต้องมีการตรวจสอบโดยเร็ว เพราะข้อมูลชัดเจนแล้วว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้น อย่ามาอ้างว่ากลัวงบประมาณจะตก ถ้าจะตกก็ให้ตกไปคนที่ทำให้ตกก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าไปสำรวจแล้วชุดพัฒนาทักษะดังกล่าวมีความจำเป็นจริงๆ ผมจะทำเรื่องเสนอสำนักงบฯให้” รมว.ศึกษาธิการกล่าว

...

ด้าน พล.ท.โกศลกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบเจ้าหน้าที่พัสดุในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 5 วางฎีกาเบิกเงินซ้ำซ้อน โรงเรียนแรกโดนไป 80,000 บาท อีกโรงเรียนโดนไป 300,000 บาท และวางฎีกาลอยเพื่อตั้งเบิกอีก 57 รายการ มีการร้องเรียนจาก ผอ.โรงเรียน ได้บันทึกปากคำไว้หมดแล้ว ถือว่ามีความผิดและมีพยานหลักฐานชัดเจน จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงทันที ทราบว่าเขตพื้นที่มีการตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว แต่เมื่อดูสำนวนไม่สอดคล้องกับข้อมูลของตน มีการสรุปให้เจ้าหน้าที่พัสดุโดนภาคทัณฑ์และขอให้ยุติเรื่อง มองว่าเป็นการตัดตอนหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่พัสดุจะทำเองคนเดียวไม่ได้ เนื่องจากการเบิกจ่ายจะต้องมีรหัสที่มีเพียงหัวหน้าแผนกบัญชี กับ ผอ.เขตพื้นที่ฯ

ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า พบพฤติกรรมของ ผอ.เขตพื้นที่ฯ จ.บุรีรัมย์ มีการเรียกรับเปอร์เซ็นต์จาก ผอ.โรงเรียน 10% โดยโรงเรียนต้องจ่ายก่อน 5% เมื่อได้รับงบแล้วต้องจ่ายอีก 5% โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องยอม เพราะถ้าไม่ให้จะไม่ได้รับงบประมาณในปีนั้น การดำเนินการแบบนี้ทำเป็นเครือข่าย แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ มีการตกเขียวเงินงบประมาณ โรงเรียนใดอยากได้งบประมาณต้องเอาเปอร์เซ็นต์มาก่อน มีหลักฐานชัดเจน ดังนั้น สพฐ.ต้องรับไปดำเนินการต่อไป ส่วนงบฯครุภัณฑ์ของ สพม.28 ที่ จ.ยโสธร พบว่ามีโรงเรียนได้รับการจัดสรรรวม 458 โรง งบฯทั้งสิ้น 279 ล้านบาท ภายหลังเมื่ออนุมัติพบว่าเพิ่มโรงเรียนเป็น 600 โรง อีกทั้งพบว่าโรงเรียนไม่ได้ต้องการครุภัณฑ์ดังกล่าว แต่มีการจัดสรรมาให้เอง โรงเรียนบางแห่งเสนอครุภัณฑ์มาให้แต่ไม่ตรงกับที่เสนอ กรณีนี้มีบริษัทเข้ามาจัดซื้อจัดจ้าง แต่ขั้นจัดสรรงบฯกลับเปลี่ยนรายการ จึงต้องจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ทราบว่างบฯดังกล่าวจะต้องใช้ให้เสร็จภายในวันที่ 31 พ.ค. สพฐ.จะต้องไปเร่งพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อหรือจะหยุด

ขณะที่นายอัมพร พินะสา ที่ปรึกษา สพฐ. กล่าวว่า กรณีของการจัดซื้อครุภัณฑ์ สพฐ.จะชะลอไว้ก่อน เนื่องจากมีข้อสังเกตจำนวนมาก จึงต้องตรวจสอบก่อน ถ้าเป็นความต้องการของโรงเรียนก็จะดำเนินการต่อไป

วันเดียวกัน มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จัดทำสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องเรียน ประจำปี 2560 พบว่า ประเด็นการร้องเรียนทุจริตที่พบมาก คือ พฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 41.19 % ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง เบิกเงินอันเป็นเท็จ 9.91 % ทุจริตโครงการของรัฐบาล 9.58 % ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง เรียกรับเงิน 9.08 % และจำนำข้าว 6.85 % ส่วนหน่วยงานที่มีการร้องเรียน 5 อันดับแรก คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17.35 % กระทรวงมหาดไทย 15.11 % สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 9.96 % กระทรวงศึกษาธิการ 4.11 % กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.34 % ส่วนจังหวัดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 13.19 % นครราชสีมา 3.19 % เชียงใหม่ 2.91 % อุบลราชธานี 2.61 % นครสวรรค์ 2.59 % สำหรับผลการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานที่เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. และมีมติดังนี้ 1.รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 1,175 เรื่อง 2.ส่งคืนพนักงานสอบสวน 82 เรื่อง 3.ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. 1,345 เรื่อง 4.ไม่รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 888 เรื่อง