การไหลผ่านของเวลาที่ล่วงเลยมาอย่างยาวนานของ Mazda ผ่านเส้นทางที่มีทั้งความสวยงามและเคยล้มลุกคลุกคลานก่อนที่จะกลับมาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน ความสำเร็จของ Skyactiv กลายเป็นบทพิสูจน์บนเส้นทางของโลกยนตรกรรมการพัฒนายานยนต์ไปพร้อมกับการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าคืองานประจำที่มีความยากลำบากและมีต้นทุนสูง ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน Mazda ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ด้วยก้าวย่างที่มั่นคง สร้างพื้นฐานจากอดีตสู่อนาคตไว้อย่างแข็งแกร่ง เป็นบทสรุปแห่งความสำเร็จมากว่า 67 ปี ของ Mazda ในประเทศไทย
...
Mazda Motor Corporation ก่อตั้งโดย “มร.จูจิโร่ มัตซึดะ” ผู้นำด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น จากการเริ่มต้นทำอุตสาหกรรมจุกไม้คอร์กในปี พ.ศ. 2463 และต่อมาได้เริ่มผลิตเครื่องมือกลไกในปี พ.ศ. 2472 และด้วยความที่เป็นคนผู้หนึ่งซึ่งหลงใหลในเทคโนโลยีของรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ต่อมา มร.มัตซึดะ ก้าวเข้าสู่โลกของการผลิตมอเตอร์ไซค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2474 ก็ได้เริ่มผลิตรถบรรทุก สามล้อที่เรียกว่า Mazda Ko ถือเป็นรถคันแรกที่ผลิตออกสู่ตลาดในนาม Mazda ต่อมาจึงได้เริ่มผลิตเครื่องยนต์ 2 จังหวะเป็นรายแรกของโลก
...
Mazda เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่ผลิตเครื่องยนต์สูบหมุนโรตารี่
สำหรับประเทศไทย ในอดีต ชื่อของ Mazda เป็นที่รู้จักกันในนามของ บริษัท กมลสุโกศล จำกัด ซึ่งประกาศตัวอย่างเป็นทางการในการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จากยุโรปในปี พ.ศ. 2503 พร้อมกับดำเนินธุรกิจอีกหลายแขนงที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ในการดูแลของกมลสุโกศล ซึ่งกลายเป็นธุรกิจที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ความก้าวหน้าและการเจริญเติบโต มิได้ถูกหยุดยั้งลงเพียงแค่นั้น เมื่อ ม.ร.ว.ลาภ หัสดินทร ได้แนะนำให้ทดลองนำรถยนต์ Mazda จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาจำหน่าย โดย Mazda รุ่นแรกที่จำหน่ายในประเทศไทยเป็นรถกระบะสามล้อ ที่นำเข้าโดยตรงจากเมืองฮิโรชิมา และอีก 9 ปีต่อมาก็ได้แนะนำรถ Mazda Coupe R360 รถขนาด 360 ซี.ซี. 2 สูบ ออกสู่สายตาประชาชนในปี พ.ศ. 2506 จนเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
...
จากความสำเร็จที่ได้รับทำให้ Mazda Motor Corporation บริษัท โตโยโกเมนก้า ไคซ่า จำกัด และบริษัท กมลสุโกศล จำกัด ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท สุโกศลมาสด้า อุตสาหกรรมรถยนต์ จำกัด ขึ้นที่การนิคมอุตสาหกรรมบางชันในปี พ.ศ. 2517 เพื่อประกอบรถยนต์ Mazda หลังจากนั้น 1 ปีให้หลัง ในปี พ.ศ. 2518 รถยนต์ Mazda ที่ออกจากสายพานการผลิตในประเทศไทยเป็นคันแรก คือ Mazda 929 จากนั้นไม่นานก็มี Mazda 808 ตามออกมาในปีเดียวกัน ล่วงเลยมาถึง 2 ปี Mazda แนะนำรถยนต์ขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมมากรุ่นหนึ่งตามออกมาอีก นั่นคือ Mazda 323
...
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 Mazda ได้ตกลงร่วมทุนกับพันธมิตรก่อตั้ง บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์แห่งใหม่ที่จังหวัดระยอง และเริ่มทำการผลิตเต็มอัตราในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 บนเนื้อที่ 529 ไร่ ด้วยเงินลงทุนถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีกำลังการผลิต 135,000 คันต่อปี และผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน รุ่น B2500 สำหรับส่งออก และจำหน่ายภายในประเทศ รวมถึงรถยนต์นั่งรุ่น 323 โปรทีเจด้วย
โรงงาน ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต ISO 9002 และได้รับรางวัลมากมาย ทั้งในประเทศ และสหราชอาณาจักร ในด้านคุณภาพรถยนต์ ซึ่งตัวโรงงานได้รับการออกแบบให้ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุดตามนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมของ Mazda
มาถึงปี พ.ศ. 2542 ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย Mazda Motor Corporation ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น โดยถือหุ้นใหญ่ในบริษัท จัดตั้งคณะผู้บริหารใหม่ และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เป็น Mazda Sales Thailand โดยมุ่งการบริหารไปที่ด้านการตลาด และการขาย การบริการลูกค้า และการสนับสนุนผู้แทนจำหน่ายเพื่อนำเสนอรถยนต์ Mazda รุ่นต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ZOOM-ZOOM Concept ...ปรัชญาและความหมายของ Mazda
ปี พ.ศ. 2545 Mazda กับแนวคิดใหม่ ฉีกแนวการตลาดด้วย แนวคิด Zoom Zoom อันเป็นแนวคิดที่สะท้อนภาพลักษณ์ของ Mazda ทั่วโลกที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ที่มีความเป็นรถสปอร์ต ให้ความเร้าใจในการควบคุม ด้วยอารมณ์ของความสนุกหลังพวงมาลัย จากช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวที่ตอบสนองการขับขี่ที่ได้อรรถรส
คำว่า Zoom Zoom เป็นคำที่เด็กๆ ชาวตะวันตกใช้แทนเสียงของเครื่องยนต์ และจะเปล่งเสียง Zoom Zoom ทุกครั้งที่เล่น หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับความเร็ว จึงเป็นตัวจุดประกายให้นำความรู้สึกสนุกสนาน เร้าใจ และความมีอิสระเสรีในวัยเด็กมาใช้ในการพัฒนาและผลิตรถยนต์ ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกสนุกสนาน เร้าใจ เช่นเดียวกับที่คุณเคยรู้สึกในวัยเด็ก
Mazda ไม่ได้เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เจ้าแรกที่คิดค้นเครื่องยนต์สูบหมุนประสิทธิภาพสูงหรือที่เรียกกันว่าเครื่องโรตารี่ อันที่จริง เครื่องโรตารี่เกิดจากความคิดของ Felix Wankle ซึ่งเป็นวิศวกรเยอรมันในยุคที่นาซีกำลังรุ่งเรือง Mazda นำเอาแบบแปลนของเครื่องยนต์โรตารี่มาพัฒนาต่อยอด โดยผลิตเครื่องยนต์สูบหมุนมาแล้ว 18 รุ่น เริ่มจาก Mazda 110S Cosmo Sport ในปี 1967 และมาถึงจุดสูงสุดในยุค 70' เครื่องยนต์สูบหมุนถูกวางลงในรถยนต์หลายรุ่น รวมถึงรถกระบะและรถบัสบางรุ่นของ Mazda ก็ยังใช้เครื่องยนต์โรตารี่เพื่อรีดสมรรถนะ
ย้อนเวลากลับไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในช่วงที่เครื่องยนต์ลูกสูบสามเหลี่ยมกำลังเฟื่องฟู เครื่องยนต์โรตารี่สูบหมุนที่ไม่มีเพลาข้อเหวี่ยงเคยได้รับความนิยมและกลายเป็นที่รู้จักของผู้คน จากงานวิศวกรรมต้นกำลังที่มีขนาดเล็กแต่ให้กำลังมหาศาลของ Mazda ข้อดีของเครื่องยนต์ชนิดนี้ก็คือน้ำหนักที่เบา ขนาดที่เล็กกะทัดรัดเหมาะกับการวางในรถสปอร์ตไซส์เล็ก โรตารี่ให้กำลังในรูปของแรงบิดเหนือชั้นกว่าเครื่องยนต์ทั่วไปเมื่อเทียบกับขนาด ปริมาตรความจุและน้ำหนักของตัวเครื่อง ส่วนข้อเสียก็มีอยู่เพียบทั้งปัญหาเรื่องความร้อนในห้องเครื่องยนต์ การสึกหรอที่สูงกว่าเครื่องสูบเรียง รวมถึงมลพิษที่ปล่อยออกมา!
เครื่องยนต์สูบหมุนหรือเครื่องยนต์โรตารี่แบบ 4 โรเตอร์ของ Mazda เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมา สร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตโลก ด้วยการคว้าแชมป์โลกในรายการแข่งรถระยะไกล LeMans ด้วยรถ Mazda 787B เครื่องยนต์โรตารี่ 4 โรเตอร์ อัดอากาศด้วยเทอร์โบ อนุพันธ์จักรกลรถแข่งเอนดูลานซ์สมรรถนะสูงรุ่น 787B เป็นรถแข่งในประเภทกรุ๊ป C ถูกสร้างขึ้นโดยทีมแข่งของ Mazda สำหรับใช้ในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบระยะไกล ในรายการสปอร์ตเวิลด์แชมเปียนชิพของประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นรถแข่งคันนี้ได้ถูกปรับแต่งอย่างดี และส่งลงทำการแข่งขันในรายการแข่งรถแบบ 24 ชั่วโมง หรือ Le Mans ประจำฤดูกาล 1990-1991 รถแข่ง Mazda 787B ซึ่งมีน้ำหนักรวมทั้งคันแค่ 850 กิโลกรัม วางเครื่องยนต์โรตารีที่ให้กำลังถึง 700 แรงม้า
Mazda RX-7 FB 1978-1985
เจนเนอเรชั่นแรกของปิศาจสูบหมุน RX-7 FB ถูกผลิตในปี ค.ศ. 1978-1985 โดยแบ่งออกเป็นรุ่นแยกย่อย 3 รุ่นตามระดับของการตกแต่งและราคาค่าตัว สำหรับผู้คนทั่วไปในยุคนั้น รถยนต์ Mazda และอักษรย่อ RX นั้นเป็นของคู่กันในยุคที่รถยนต์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมีการขับขี่ที่ไม่ค่อยดีนัก Mazda เริ่มต้นสายการผลิตรถยนต์ในตระกูล RX โดยเริ่มจาก R100 หรือ RX-1 ในปี ค.ศ. 1968 ตามด้วย RX-2 ในปี ค.ศ. 1970 จนมาถึงปี ค.ศ. 1975 หน้าตาของ RX-7 รุ่นแรกได้รับอิทธิพลมาจาก Porsche 924 ไฟหน้าแบบป๊อปอัพ ฝากระโปรงหน้าลาดต่ำ แนวหลังคาเทลาดลงไปยังส่วนท้ายคล้ายรูปทรงของรถสปอร์ต Porsche 924 ภายในใช้เบาะกำมะหยี่พร้อมตำแหน่งท่านั่งของคนขับที่เตี้ยติดพื้น พวงมาลัยไวนิล 3 ก้าน คันเกียร์วางอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและคันเบรกมือที่โด่ขึ้นมามากเกินไป
เครื่องยนต์สูบหมุนโรตารี่ รหัส 12A Twin Rotor 573 cc X 2 กำลัง 128 แรงม้า แรงบิด 161 นิวตัน-เมตร ระบบส่งกำลังวางเกียร์ธรรมดาแบบ 5 สปีด ขับเคลื่อนล้อหลัง ส่วนระบบรองรับ ด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท สปริง โช้คอัพและกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชั่นบีม ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยแรคแอนพีเนียนไม่มีเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงหมุน เครื่องยนต์โรตารี่รอบจัดจิ้ดมีเสียงการทำงานที่เร้าใจคล้ายฝูงผึ้งที่กำลังโกรธ มิติตัวถังยาว 4,285 มิลลิเมตร กว้าง 1,675 มิลลิเมตรและสูงแค่ 1,260 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถทั้งคันแค่ 1,005 กิโลกรัม สมรรถนะ เร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 8.7 วินาที ในยุคนั้นถือว่าเร็วมาก ส่วนความเร็วสูงสุดทำได้ที่ 193 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Mazda RX-7 FC 1985-1991
นี่คือร่างทรงของ Porsche 944 จากรูปลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกันมาก Mazda RX-7 FC เปิดผ้าคลุมในปี ค.ศ. 1985 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการปรับปรุงประสิทธิภาพของรถสปอร์ตประจำค่าย RX-7 FC มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากระบบรองรับหรือช่วงล่างด้านหลังที่เคยเป็นแบบคานแข็งหรือทอร์ชั่นบีมมาเป็นแบบอิสระมัลติลิ้งค์ เครื่องยนต์โรตารี่ รหัส 13B ปรับระบบจ่ายเชื้อเพลิงจากคาร์บูเรเตอร์ที่จูนยากมาเป็นหัวฉีดที่มีการทำงานแม่นยำขึ้นมาก เครื่องยนต์ในล็อกแรกมีทั้งแบบ NA และ Turbo ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมเลือกรุ่นเทอร์โบเนื่องจากมีประสิทธิภาพด้านแรงบิดที่เหนือกว่า ห้องโดยสารยังคงใช้เบาะผ้าแบบกำมะหยี่พร้อมตำแหน่งท่านั่งเตี้ยต่ำติดพื้นราวกับนั่งอยู่บนพื้นถนน!! เบรกมือยังคงตั้งโด่งเหมือนเดิม คอนโซลดูดีขึ้นจากการปรับปรุง
เครื่องยนต์ 13B Twin Rotor 654cc x 2 กำลัง 146 แรงม้า พร้อมแรงบิด 187 นิวตัน-เมตร ระบบส่งกำลังยังใช้เกียร์ธรรมดา 5 สปีด ช่วงล่างด้านหน้าแมคเฟอร์สัน สตรัท สปริงโช้คอัพและกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Semi-traling arm ผลของการปรับระบบรองรับด้านหลัง รวมถึงการเปลี่ยนมาเป็นพวงมาลัยพาวเวอร์ ทำให้ Mazda RX-7 FC มีความกระฉับกระเฉงเพิ่มขึ้น การเข้าโค้งที่เฉียบคมและความสนุกของการลากรอบส่งผลให้ RX-7 FC ถูกนำมาแต่งเป็นรถแข่งพอสมควรโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มิติตัวถังของ Mazda RX-7 FC ยาว 4,310 มิลลิเมตร กว้าง 1,690 มิลลิเมตรและสูง 1,270 มิลลิเมตร น้ำหนักรถทั้งคัน 1,360 กิโลกรัม เร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 8.5 วินาที โดยมีความเร็วสูงสุดที่ 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Mazda RX-7 FD 1992-2002
ผีโรตารี่ลำต่อไปคือ RX-7 รหัส FD หลังจากเปิดตัวในปี 1992 FD ได้รับความนิยมสูงสุดทันทีที่วางขาย ถือเป็นรถสปอร์ตเครื่องโรตารี่ของค่าย Zoom Zoom ที่สวยงามและดุดัน พร้อมอุปกรณ์ตกแต่งมากมายจากหลายสำนักให้เลือกโมว่าจะเอาแบบพอหอมปากหอมคอหรือจะจัดแบบโหดโคตรแรงก็มีให้ตามกำลังเงินของลูกค้าแต่ละคน โครงสร้างที่เบาขึ้นส่งผลให้รถรุ่นนี้ขับได้ดีกว่า RX-7 ทุกรุ่นในสารบบ ไฟหน้าของ FD ยังคงเป็นไฟแบบป็อบอัพ สปอยเลอร์มีช่องรับอากาศที่ใหญ่ขึ้น รูปทรงด้านข้างไหลลื่น บั้นท้ายติดตั้งวิงหลังมาจากโรงงานกับไฟท้ายที่สวยงาม หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมา 26 ปี Mazda RX-7 FD ถือเป็นงานออกแบบรถสปอร์ตที่ลงตัวและดูดีจนถึงวันนี้ งานตกแต่งภายในห้องโดยสารถูกปรับเปลี่ยนใหม่หมดเพื่อให้มีความทันสมัยน่าใช้น่าขับมากยิ่งขึ้น มาตรวัดแบบสปอร์ตที่เร้าใจคล้ายรถยุโรปพลังสูง พวงมาลัย 3 ก้าน คันเกียร์สั้นกุดและเอกลักษณ์ของคันเบรกมือที่ยังคงโด่ขึ้นมาเหมือนเดิม Cockpit ของ FDให้อารมณ์รถแข่งจากเบาะนั่งที่จมลึกและกระชับ เบาะหนังให้ความรู้สึกมั่นคงมากกว่าเบาะแบบกำมะหยี่ การบังคับควบคุมแม่นยำและแน่นนอนขึ้นจากช่วงล่างแบบปีกนกคู่กับพวงมาลัยพาวเวอร์ที่จูนน้ำหนักมาดีเยี่ยม ส่วนการตอบสนองของเครื่องTwin Rotor 13B จะมีรอรอบนิดๆ ในช่วงออกตัว เมื่อเทอร์โบบูสติดมันจะกระชากร่างพุ่งลิ่วๆ ไปข้างหน้าอย่างไม่ลดราวาศอก ระบบอัดอากาศแบบ Twin Sequencial Turbo ทำให้ FD เป็นรถโรตารี่ที่เร็วสุดๆ หากมีถนนที่ว่างพอ การลากรอบไปจนถึง 8500 รอบต่อนาทีสร้างความประทับใจแบบไม่รู้ลืมให้กับคนที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัย
เครื่องยนต์ของ FD วางเครื่องสูบหมุนเอกลักษณ์ที่ยากจะลอกเลียนแบบด้านความแรง อัตราสิ้นเปลืองและความร้อนที่ตามมาด้วยการสึกหรอแบบมโหฬาร ยิ่งอัดหนักเท่าไหร่ก็จะยิ่งพังไวเท่านั้น เครื่อง 13B Twin Rotor 654 cc x 2 กำลัง 252 แรงม้าจากโรงงานกระชากจนหน้าหงาย แรงบิดจัดอย่างโหด 300 นิวตัน-เมตร ที่ 5000 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ขับเคลื่อนล้อหลัง ระบบรองรับหน้า-หลังแบบปีกนกคู่ดับเบิ้ลวิชโบน นำไปปรับปรุงเพิ่มเติมให้หนึบขึ้นได้ง่ายกว่า RX-7 ทุกรุ่น มิติตัวรถ มีความยาว 4,295 มิลลิเมตร กว้าง 1,760 มิลลิเมตร สูง 1,230 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,310 กิโลกรัม เบากว่า RX-7 FC เล็กน้อย ตัวเลขสมรรถนะของ Mazda RX-7 FD เร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 4.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 251 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Mazda RX-8 2002
ประตูข้างแบบตู้กับข้าวคือความกล้าหาญของทีมออกแบบ Mazda ใน RX-8 รุ่นสุดท้ายของปิศาจโรตารีก่อนที่จะหายลับเข้ากลีบเมฆ ทรวดทรงองค์เอวมีความร่วมสมัยมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงเครื่องยนต์สูบหมุนแบบหายใจเองโดยไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศทำให้มันคว้ารางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมไปครอง เป็น RX ที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ได้บ้าพลังจนเอาไม่อยู่แต่คนที่ชอบรถแรงๆอาจทำหน้าเบื่อๆจากเครื่อง NA หายใจเองที่มีม้าแค่ 231 ตัว รูปลักษณ์ไม่โหดเท่า RX-7 FD แต่เป็น Mazda ยุคใหม่ที่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ประตู Suicide ที่ชาญฉลาดพร้อมเบาะหลังแบบนั่งโดยสารได้จริงไม่ใช่แค่ที่นั่งของหมาชิวาวา ไฟท้ายพลาสติกใสแจ๋วกับเลนส์ไฟท้ายสวยๆที่ยังคงทันสมัยมาจนถึงทุกวันนี้ ห้องโดยสารของ RX-8 เชื่อมโยงเอกลักษณ์ของ Mazda ยุคใหม่ให้เข้ากับงานออกแบบภายในที่เต็มไปด้วยรายละเอียดด้านอารมณ์ มาตรวัดทรงกระบอกสามวงซ้อนกันอย่างสวยงาม พวงมาลัย 3 ก้านมีสวิชท์มัลติฟังก์ชั่นมาให้ คอนโซลกลางดูดีกว่ารถสปอร์ตญี่ปุ่นในยุคนั้นแบบเทียบกันไม่ติด คันเกียร์สั้นกุดพร้อมคันเบรกมือโด่งโจ้งเหมือนรถรุ่นพี่ เบาะแบบสปอร์ตของ Recaro นั่งสบายขับได้ทั้งวัน เบาะสูงขึ้นทำให้มองเห็นได้ดีกว่า RX-7 รุ่นอื่น
เครื่องยนต์ของ Mazda RX-8 เป็นเครื่องสูบหมุนรหัส 13B Renesis Twin Rotor 654 cc x 2 กำลัง 231 แรงม้า ที่ 8200 รอบต่อนาที จัดจ้านเกินบรรยาย ส่วนแรงบิดมีพอได้เล่นสนุกนิดๆ ที่ 210 นิวตัน-เมตร ระบบส่งกำลังจัดเกียร์ธรรมดา 6 สปีดสำหรับขาแรงที่ชอบสับเกียร์เล่นโดยมีรุ่นเกียร์ออโต 6 สปีดสำหรับคนที่ชอบความสบาย ช่วงล่างหน้าแบบปีกนกคู่ดับเบิ้ลวิชโบน ส่วนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิ้งค์ มิติตัวถัง ยาว 4470 มิลลิเมตร กว้าง 1770 มิลลิเมตร สูง 1340 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถทั้งคันอยู่ที่ 1429 กิโลกรัม สมรรถนะ เร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 6.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 234 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เครื่องยนต์โรตารีถูกออกแบบให้มีรอบการทำงานที่จัดจ้านมากกว่าเครื่องยนต์สูบเรียงหรือสูบนอน เครื่องสูบหมุนของ Mazda บางรุ่นมีรอบเครื่องเกิน 10,000 รอบต่อนาที และทำให้เกิดความร้อนแพร่กระจายสะสมในห้องเครื่องยนต์ จากการหมุนด้วยความเร็วสูงของโรเตอร์ ส่งผลให้ประเกน สายไฟและอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวในเครื่องยนต์ เช่น สูบโรเตอร์แบบสามเหลี่ยม การเสื่อมสภาพสึกหรอจากที่สูบต้องหมุนในรอบที่รอบสูงมาก ชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์โรตารี่ยังมีราคาแพง และมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าเครื่องยนต์สูบเรียง ช่างที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญกับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ชนิดนี้มีน้อย ความนิยมชมชอบจึงค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ เหลือเพียงนักเลงรถกลุ่มเล็กๆ ที่ยังมั่นคงกับเครื่องโรตารี่โดยพยายามรักษาสภาพปรับปรุงตกแต่งและบูรณะให้รถและเครื่องยนต์อยู่ในสภาพที่วิ่งใช้งานได้แต่ก็เหลืออยู่น้อยเต็มทน.