คณะบริหารรอสอะตอมรัสเซีย รมว.พลังงานอียิปต์ รองผู้อำนวยการไอเออีเอ ผู้อำนวยการหน่วยงานนิวเคลียร์โบลิเวีย รอง รมช.พลังงานตุรกี รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีเบลารุส ร่วมเสวนาในวันเปิดงานอะตอมเอ็กซ์โป ที่เมืองโซชี รัสเซีย เมื่อ 14 พ.ค.
ประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน มีแนวคิดย้อนหลังไปตั้งแต่ พ.ศ. 2509 แต่ปัจจุบันยังคงเป็นอะไรที่เลือนราง
หลายรัฐบาลที่ผ่านมาจะพูดถึงนิวเคลียร์ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย (พีดีพี) แต่เรื่องก็ถูกเก็บเงียบหายไปภายหลังเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ฟูกูชิมะ ไดอิจิ” ของญี่ปุ่น กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลในปี 2554 พอจะกลับมาเห็นเค้าบ้างก็คือแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงปี 2558 ของกระทรวงพลังงาน
กล่าวถึงเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรครับ เพราะในช่วงวันที่ 14-16 พ.ค. ผู้เขียนได้รับโอกาสไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว จากบริษัทรัฐวิสาหกิจด้านนิวเคลียร์ของรัฐบาลรัสเซีย “รอสอะตอม” และเข้าร่วมงานประชุมนานาชาติอะตอมเอ็กซ์โปครั้งที่ 10 ที่เมืองโซชี ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นการรวมตัวของหน่วยงานชั้นนำจากชาติที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงชาติที่กำลังสนใจนิวเคลียร์ 65 ประเทศ
เมื่อพูดถึงนิวเคลียร์ สิ่งที่คนส่วนใหญ่จะนำไปโยงคือ “ระเบิดนิวเคลียร์” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะการสร้างระเบิดจะต้องใช้แร่กัมมันตรังสียูเรเนียม หรือพลูโตเนียมเกรดสูง ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ใช้ในเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้ามีความเข้มข้นแค่ 3.5-5 เปอร์เซ็นต์
จึงเป็นไปไม่ได้เด็ดขาด ที่จะเกิดการระเบิดกลายเป็นดอกเห็ดแบบในภาพยนตร์ นอกจากนี้ ทราบกันหรือไม่ว่าในประเทศไทย ก็ครอบครองเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มาเป็นเวลานานแล้ว เป็นของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ใช้สำหรับงานวิจัยแถมมีความเข้มข้นของแร่กัมมันตรังสีถึง 20 เปอร์เซ็นต์
...
ในโอกาสไปร่วมงาน ผู้เขียนได้นั่งสนทนากับ “อีกอร์ ซิโมนอฟ” ผู้อำนวยการรอสอะตอมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงประเด็นน่าสนใจหลายประการว่า สาเหตุที่คนกลัวเวลาเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เป็นเพราะไม่เข้าใจในเรื่องของนิวเคลียร์นั่นเอง
ประวัติศาสตร์การใช้พลังงานนิวเคลียร์กว่า 70 ปี เกิดเหตุการณ์ใหญ่แค่ 3 ครั้งคือเชอร์โนบิล ทรีไมล์ไอแลนด์ และฟูกูชิมะ แต่ผู้คนไม่พูดถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับกระบวนการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะเข้าใจระบบ สิ่งที่ควรทำคือเอาความรู้สึกออกไปและดูกันที่สถิติมากกว่า (ข้อมูลสำนักงานปรมาณูระหว่างประเทศไอเออีเอ จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็ง จากผลพวงเหตุเชอร์โนบิลตั้งแต่ พ.ศ.2529 อยู่ที่ราว 9,000 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยผลพวงมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเฉพาะในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 13,200 คนต่อปี)
“อย่างฟูกูชิมะเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างมานาน ไม่อยากจะเปรียบเทียบระหว่างเทคโนโลยียุคเก่ากับยุคใหม่ มองง่ายๆเหมือนอย่างรถยนต์เทียบกันได้ไหมระหว่างรุ่นเก่าใหม่ เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีการพัฒนาอยู่ตลอดไม่ใช่อยู่กับที่ เตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่เจเนอเรชัน 3+ ประสิทธิภาพการให้พลังงานคนละระดับ ขณะที่ความปลอดภัยโรงไฟฟ้าก็รองรับเหตุรุนแรงได้ระดับถูกเครื่องบินพุ่งชนใส่...ส่วนการทำงานอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด เหมือนกาต้มน้ำชา แล้วนำความร้อนไปแปลงออกมาเป็นพลังงาน”
ในรัสเซียมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 36 แห่ง และมีอัตราการยอมรับที่สูง ยิ่งย่านชุมชนใกล้โรงไฟฟ้าเท่าไร คนยิ่งยอมรับมากเท่านั้น เพราะได้รับผลประโยชน์จากโครงสร้างขั้นพื้นฐาน การสร้างงาน แต่จากสถิติในชาติที่ไม่มีนิวเคลียร์อัตราการยอมรับพลังงานประเภทนี้จะต่ำ จึงเป็นเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน ให้ข้อเท็จจริง จนตัดสินใจคิดได้ด้วยตัวเอง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเอาปัจจัยทั้งหมดเข้าชี้แจง
สำหรับประเทศไทยมองว่า มีความเป็นไปได้เสมอที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รัฐบาลไทยกล่าวที่การประชุมโลกร้อนกรุงปารีส ฝรั่งเศส ว่าไทยจะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน 20-25 เปอร์เซ็นต์ ภายใน พ.ศ.2573 กับการที่ไทยเป็นชาติเศรษฐกิจเติบโตในอาเซียน ต้องมีความพร้อมด้านพลังงานมารองรับอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง จากเหตุผลจุดนี้แล้วจึงคิดว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมาะสมที่สุด
เพราะต้องไม่ลืมว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีค่าคาร์บอนเป็นศูนย์ ถ้าคิดรวมตอนก่อสร้างด้วยก็เรียกว่าเกือบศูนย์ ส่วนเรื่องใช้ต้นทุนสูงเป็นเรื่องจริง แต่ควรดูเรื่องต้นทุนเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ (levelized cost of energy) และอายุการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีอายุการใช้งาน 60 ปี นิวเคลียร์จึงเป็นพลังงานที่ถูกที่สุดในระยะยาว
...
ส่วนเรื่องพลังงานทดแทนมองว่า เป็นไปไม่ได้จะมาแทนที่นิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์หรือลมเป็นพลังงานที่ดี แต่ก็ต่อเมื่อมีแสงแดดมีลมพัด ถือว่ามีปัจจัยความไม่แน่นอนอยู่ ไม่เหมือนกับโรงไฟฟ้าอื่นๆที่สั่งเปิดปิดได้ พลังงานน้ำก็เช่นกัน ค่าลงทุนถูกมาก แต่ถ้าภัยแล้งจะทำอย่างไร กำลังผลิตไม่เพียงพอแน่นอน
ตอนนี้มี 3 ประเทศกำลังจะเป็นน้องใหม่พลังงานนิวเคลียร์ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เบลารุส และบังกลาเทศ ขณะที่เวียดนามกำลังมีการประสานงานสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “นินถ่วน” ซึ่งเรามีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลในเรื่องเงินทุน แต่ตอนนี้โครงการถูกชะลอ เนื่องจากเวียดนามกำลังประเมินสถานการณ์ใหม่ด้านความต้องการพลังงาน.
วีรพจน์ อินทรพันธ์