"นิพิฏฐ์" โพสต์เฟซบุ๊กแจงหลักการจับกุม ไม่สบายใจวิธีการของ จนท.รัฐทำกับพระ แนะปฏิบัติให้เหมาะสม อย่ากลายเป็นทำลายศาสนา

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.61 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ "การจับกุม" ว่า โลกเดี๋ยวนี้ทันสมัย การดำเนินการจับกุมบุคคล เหมือนจะมีการถ่ายทอดสดกันขณะจับกุม เมื่อเราเห็นการจับกุม เราก็ควรเรียนรู้ไปด้วยว่า การจับกุมมีลักษณะอย่างไร ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีประโยชน์ เพราะอารมณ์ที่เราเห็นขณะจับกุมนั้น มี 2 อารมณ์ คือ สะใจ หรือ หดหู่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 เมื่อมีการจับกุม ผู้จับกุมต้องดำเนินการหลักๆ อย่างน้อย 3 ประการ คือ 1.แจ้งข้อกล่าวหา 2.แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับทราบว่า เขามีสิทธิอะไรบ้าง 3.ใช้วิธีการจับเท่าที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการหลบหนี หากไม่ทำทั้ง 3 กรณี ถือว่าการจับกุมไม่ชอบ ซึ่งผู้จับต้องรับผิดชอบ แต่การจับกุมไม่ชอบ ไม่ถึงกับทำให้การสอบสวนเสียไปเพราะการจับกับการสอบสวนเป็นคนละขั้นตอนกัน พร้อมระบุตอนท้ายในวงเล็บว่า (โปรดระมัดระวังในการแสดงความเห็น)

ต่อมาเวลา 15.00 น.วันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง ในหัวข้อว่า "การดำเนินคดีกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา" ว่า ต้องบอกเสียก่อนในเบื้องต้นว่า ผมไม่ค่อยสบายใจกับ "วิธีการ" ของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระภิกษุจะผิดถูกอย่างไรก็ว่าตามกฎหมายแต่ "วิธีการ" และ "ท่าที" ของรัฐที่กระทำต่อพระในพระพุทธศาสนาค่อนข้างบาดใจบุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนา อย่าได้คิดว่าพระเป็นผู้มีรสนิยมทางการเมืองเป็นเหลือง-เป็นแดง จึงกระทำต่อพระอย่างนั้น แต่จงคิดว่าพระเป็นทายาทของพระพุทธองค์ ผู้สืบต่อพระพุทธศาสนา ท่าทีของรัฐต่อเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ หากรัฐกำหนดท่าทีไม่ถูกต้องแทนที่จะเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา กลับเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาโดยความเขลาของรัฐเสียเอง หลายเรื่องพระตกเป็นเหยื่อทางกฎหมายของทางโลก แม้พระจะอยู่ในทางธรรมแต่ท่านก็อยู่ใต้กฎหมายของทางโลก ภายใต้หลักกฎหมายที่ว่า "บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้" เมื่อพระมีนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐบางครั้งพระก็ตกเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่โดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างกรณีคดี "เงินทอนวัด" การทำคดีของรัฐไปเร็วถึงขนาดถลกจีวรพระจับพระขังคุกแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตเงินทอนยังอยู่ดีมีสุข ไม่มีใครกล้ำกลายเฉียดคุกแม้แต่คนเดียว นี่เป็นเรื่องที่รัฐต้องตอบคำถามต่อสังคมเหมือนกัน พระก็เป็นลูกหลานชาวบ้านเหมือนคนทั่วไป บางครั้งเรามองพระสูงส่งเป็น "อริยสงฆ์" แต่พระท่านมิได้เป็นอริยสงฆ์ทุกรูปหรอก ท่านก็เป็นเพียง "สมมติสงฆ์ หรือสมมุติสงฆ์" เมื่อเราเห็นสมมติสงฆ์ประพฤติผิดไป จากที่เราคาดหวังเหมือนที่อริยสงฆ์ปฏิบัติ เราก็อาจพาลกระทำต่อสมมติสงฆ์อย่างขาดเมตตาธรรม ซึ่งผู้ปกครองรัฐควรมีหลักเมตตาธรรมอยู่ในใจ

...

"ผมเคยเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลศาสนา แม้ไม่ได้กำกับดูแลพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่ผมเห็นความแตกต่างระหว่างศาสนิกในการปฏิบัติหลักธรรมในแต่ละศาสนา อาจจำเป็นต้องกล่าวว่าศาสนิกในศาสนาอื่นเขามีความเข้มแข็ง ในการปฏิบัติหลักธรรมในศาสนามากกว่าชาวพุทธเป็นอย่างมาก จึงเห็นศาสนาอื่นมีความเข้มแข็งมากกว่าพุทธศาสนา ชาวพุทธที่แท้จึงอย่ามอบพุทธศาสนาไว้ในมือของรัฐเลย และอย่าหวังให้รัฐดูแลคุ้มครองพระพุทธศาสนา หากแต่จงรับพุทธศาสนาไว้ในมือของท่าน และจงปกป้องพุทธศาสนาด้วยสติและปัญญาของท่านเอง" นายนิพิฏฐ์ ระบุ

นายนิพิฏฐ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ที่โพสข้อความในเรื่องนี้ เพราะต้องการสื่อให้เห็นว่า ท่าทีในการดำเนินคดีกับพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา คือพระภิกษุจะกระทำผิดในคดีอาญาอะไร อย่างไรก็ว่าไปตามกฏหมาย แต่ท่าทีของรัฐในการดำเนินคดีนั้น ต้องเหมาะสมการ รู้กาลเทศะ การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ทำไปเพื่อเป็นการปกป้องพระพุทธศาสนา แต่ถ้าการแสดงของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ถูกต้องและเหมาะสม แทนที่จะเป็นการปกป้องพระพุทธศาสนาก็จะกลายเป็นการทำลายด้วยความโง่เขลาของรัฐเอง