ระดับความรุนแรง ของความวุ่นวายในวงการสงฆ์ ระหว่าง พฤษภาคม มิถุนายน พ.ศ.2503 พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ใช้คำพรรณนาว่า เรายังไม่ทราบว่า เปลวไฟมหากาฬซึ่งเผาลนดวงใจพวกเราอยู่นี้ ได้แลบออกจากนรกขุมใดแน่
(บทความพิเศษ เรื่องครั้งนี้มีปัญหา เราจะคุ้มครองศาสนากันอย่างไร ตีพิมพ์ในหนังสือ นาทีทอง พ.ศ.2508)
ต้นเหตุของเรื่อง มาจากบุคคลกลุ่มหนึ่ง พิมพ์ใบปลิวยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกร้าวระหว่างพระสงฆ์ด้วยกัน โดยยกเอากรณีสมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งคณะสังฆมนตรี เป็นข้ออ้าง
เรื่องเล็กจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่
พ.อ.ปิ่น บอกว่าเหตุร้ายดูเหมือนเกิดกับพระศาสนา แต่ศาสนาหมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ศาสนาจึงไม่ใช่วัด ศาสนาไม่ใช่พระภิกษุสามเณร ศาสนาไม่ใช่โบสถ์วิหาร
สิ่งของและตัวบุคคลเหล่านี้ เป็นเพียงทรัพย์สินและคนที่เข้าไปปฏิบัติศาสนา
หากไฟไหม้วัด ก็มิได้หมายความว่าศาสนาจะถูกไฟไหม้ พระภิกษุสามเณรถึงแก่มรณภาพไป ก็มิได้หมายความว่าศาสนามีอันล้มตายไปด้วย
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ที่อาจเป็นไปได้ในทุกๆสังคม
พ.อ.ปิ่นให้ข้อคิดว่า บ้านเมืองของเรามีสองอาณาจักร ราชอาณาจักรมีกฎหมายปกครอง ทางพุทธจักรก็มีวินัยสงฆ์ปกครอง
เท่าที่สังเกตมาเป็นเวลานาน คนที่ทำความวุ่นวายทางศาสนา ไม่ใช่คนในราชอาณาจักรเต็มตัว และไม่ใช่คนที่อยู่ในพุทธจักรเต็มตัว หากบำเพ็ญตัวเป็นคนอยู่กึ่งกลางระหว่างพรมแดนของจักรทั้งสอง
จะเรียกคนสองสัญชาติก็ได้
ครั้นเจ้าหน้าที่จะเอาผิดทางบ้านเมือง ก็เกรงใจทางสงฆ์ ครั้นสงฆ์จะเอาผิดทางวินัย ก็ไม่พอที่จะลงโทษให้หลาบจำ ทางบ้านเมืองจึงต้องตรากฎหมายไว้คุ้มครองศาสนาโดยตรง
สมัยต้นวงศ์จักรี มีกฎหมายห้ามมิให้เทศน์ หรือฟังเทศน์ตลกคะนอง เอาผิดทั้งคนเทศน์คนฟัง ห้ามหญิงมิให้เข้าวัดในเวลาวิกาล ห้ามภิกษุเล่นการพนัน ห้ามภิกษุห่มผ้าแดง
...
และกฎหมายเอาโทษภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก แล้วปกปิดไว้
กรณีนี้ ถ้าพระต้องปาราชิกแล้วสึกเสียเอง บ้านเมืองไม่เอาโทษ แต่ถ้าทำผิดแล้วปกปิดไว้ ทำตัวเป็นพระต่อไป ต้องให้สึกและรับโทษทางบ้านเมืองด้วย โทษฐานหลอกลวงชาวบ้าน และปล้นศาสนา
ต่อมา เมื่อถึงสมัยที่ทางราชการตรา พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 กฎหมายนี้กลับเปิดช่องให้ คนสองสัญชาติดื้อแพ่งได้มากขึ้น มีเรื่องหนักอกหนักใจเจ้าวัด และคณะสงฆ์อยู่มาก
เป็นมูลเหตุของความเสียหาย ทำให้คณะสงฆ์ถูกครหานินทา รวมทั้งทำให้เกิดเหตุการณ์ร้าย
พ.อ.ปิ่นทิ้งท้าย ด้วยการเสนอให้ทางฝ่ายราชอาณาจักรตรา พ.ร.บ.คุ้มครองพระพุทธศาสนา
บทความพิเศษของ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ น่าจะมีผลให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อีกสองปีต่อมา ระบบสังฆสภาถูกเปลี่ยนกลับไปใช้ระบบเถรสมาคม ที่เคยใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
นับแต่ปี 2503 มาถึงวันนี้ ใกล้ 60 ปีเข้าไปแล้ว ไม่น่าเชื่อ ก็ต้องเชื่อว่า เรื่องร้ายๆในวงการสงฆ์ ทำท่าจะย้อนกลับมาอีก...ระดับความร้อนแรง มีเค้าจะเหมือนไฟที่แลบจากขุมนรก ดัง พ.อ.ปิ่นเปรียบเปรยไว้
ตั้งสติแยกออกให้ชัด นี่เป็นเรื่องร้ายของคน ไม่ใช่เรื่องของศาสนา ไม่ใช่เรื่องของพระธรรมพระวินัย.
กิเลน ประลองเชิง