แรงงานเถื่อน สั่งปิดชั่วคราว

รอง ผบ.ตร. “วิระชัย ทรงเมตตา” นำกำลังตำรวจคอมมานโด ทหาร เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ลุยตรวจสอบโรงงานคัดแยกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และนำเข้าขยะอุตสาหกรรมย่าน จ.ฉะเชิงเทรา หลังชาวบ้านร้องเรียนมีมลพิษ พบเป็นโรงงานขนาดใหญ่เนื้อที่ร่วม 100 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิด ภายในมีแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กับขยะอุตสาหกรรมใส่ถุงบิ๊กแบ็กวางตากแดดอยู่บนพื้นดินจำนวนมาก มีคนงานต่างด้าวทำงานกว่า 250 คน เผยเป็น 1 ใน 24 ขยะอันตรายต้องห้ามนำเข้าเด็ดขาด เพราะเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ทำลายระบบเลือด และยังมีสารก่อมะเร็งด้วย เสนอกรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งปิดโรงงานชั่วคราว

เจ้าหน้าที่บุกทลายโรงงานขยะพิษรายนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 พ.ค. พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยนายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุวิทย์ คำดี ผวจ.ฉะเชิงเทรา พล.ต.วรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผบ.กองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา นำกำลังตำรวจคอมมานโดกองปราบฯ ตำรวจ บก.ปทส. ตำรวจชุดสืบสวนภาค 2 ตำรวจ สภ.แสนภูดาษ เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เข้าตรวจสอบบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด เลขที่ 33 หมู่ 12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา หลังรับแจ้งโรงงานดังกล่าวลักลอบทำลายและคัดแยกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และนำเข้าขยะอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต

พบเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีรั้วรอบขอบชิด บนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ โดยมีแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และขยะอุตสาหกรรมใส่ถุงบิ๊กแบ็กวางตากแดดอยู่บนพื้นดินจำนวนมาก ขณะที่ตัวโกดังโรงงานคัดแยกเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ภายในโกดังพบแรงงานชาวเมียนมา ชาวลาว และกัมพูชา กว่า 250 คน กำลังคัดแยกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรม คนงานบางส่วนทำงานอยู่ที่เตาปิ้ง หรืออุปกรณ์หลอมสารตะกั่วออกจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนคัดสิ่งไม่ต้องการทิ้ง เหลือไว้เพียงแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปคัดแยกเอาทองเหลืองอีกขั้นตอนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่มาของเศษกากวัสดุขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อหาแหล่งที่มาของการนำเข้า เนื่องจากขยะเหล่านี้ในประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้า เพราะถือว่าเป็นขยะอันตราย

...

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้มีหลายขั้นตอนที่ไม่ถูกต้อง และมีการลักลอบนำเข้ากากขยะอุตสาหกรรมที่ประเทศทั่วโลกหาวิธีการทำลาย แต่กลับนำเข้ามาในไทย ในการกำจัดขยะนั้นเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบอย่างสูงต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ เพราะในขยะอิเล็กทรอนิกส์มีสารตะกั่วโลหะหนัก สารปรอท เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ทำลายระบบเลือด และยังมีสารก่อมะเร็งด้วย ขยะ ดังกล่าวเป็น 1 ใน 24 ขยะอันตรายเป็นของต้องห้ามเด็ดขาด ตนสั่งให้ตรวจสอบเรื่องการขออนุญาตและขยายผลว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของโรงงาน เบื้องต้นจากข้อมูลพบว่าเจ้าของโรงงานเป็นนายทุนชาวจีน

รอง ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นคาดว่ามีความผิด 8 ข้อหาคือ 1. นำคนงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ให้ที่พักพิงต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง 3.รับคนงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน 4.เป็นต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ 5.นำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (ขยะอิเล็กทรอนิกส์) โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ 6.ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ 7.ประกอบกิจการโดยไม่รับแจ้ง ตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ 8.ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน (เก็บนอกอาคารโรงงาน)

ขณะที่นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า จากการตรวจสอบพบโรงงานมีการขออนุญาตดำเนินกิจการคัดแยกและบดทำลายขยะ ตอนเกิดไฟไหม้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงตั้งข้อสังเกตถึงมลพิษที่เกิดขึ้น จึงแจ้งหน่วยงานราชการเข้ามาตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าขยะเหล่านี้อันตรายไม่สามารถคัดแยกได้ หลังจากนี้จะให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งปิดโรงงานชั่วคราว เนื่องจากการตรวจสอบลักษณะของโรงงานพบว่ามีการจัดการที่ผิดสุขลักษณะ ไม่สามารถเก็บมลพิษได้ และที่ผ่านมาประเทศจีนก็ไม่อนุญาตให้มีการคัดแยกขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศตัวเองด้วย

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า การทำลายซากวัสดุอันตรายประเภทนี้ ต้องมีระบบการจัดการที่เป็นโรงงานปิด ต้องใช้การเผาด้วยความร้อนสูงและมีการจัดการที่ดี จึงจะสามารถคัดกรองสารมลพิษต่างๆได้ ในประเทศไทยมีการจัดการบ่ออุตสาหกรรมที่ถูกต้องประมาณ 3-4 บ่อเท่านั้น หลังจากนี้จะให้อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราทำการตรวจสอบตั้งแต่การขอใบอนุญาตประกอบโรงงาน การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การทำลายขยะอุตสาหกรรม รวมถึงรายละเอียดทั้งหมดว่าผิดอะไรบ้าง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป