“บิ๊กต้อย-พล.ต.อ.วิระชัย” ควง “บิ๊กหนุ่ม-ผบ.พล.ร.11” ตรวจโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย หลังชาวบ้านร้องสร้างมลพิษ พบมีนายทุนชาวจีนเป็นเจ้าของโรงงาน ผู้ว่าฯ เตรียมสั่งปิดชั่วคราว
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 พ.ค.61 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พล.ต.วรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผบ.กองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่ตำรวจคอมมานโดกองปราบตำรวจ บก.ปทส. ตำรวจสืบสวนภาค 2 ตำรวจ สภ.แสนภูดาษ เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร สนธิกำลังเข้าตรวจสอบบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด (สำนักงานใหญ่) เลขที่ 33 หมู่ 12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา หลังพบลักลอบทำลายและคัดแยกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และนำเข้าขยะอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ที่เกิดเหตุเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีรั้วรอบขอบชิดบนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ โดยมีแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และขยะอุตสาหกรรมใส่ถุงบิ๊กแบ็กวางตากแดดอยู่บนพื้นดินรอบๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่ตัวโกดังโรงงานคัดแยกเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่
...
โดย พล.ต.อ.วิระชัย พร้อม นายสุรพล และคณะเดินตรวจสอบภายในโกดังดังกล่าว พบคนงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา และลาว ประมาณ 258 คน กำลังทำการคัดแยก แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และขยะอุตสาหกรรม นอกจากนี้คนงานบางส่วนกำลังอยู่ที่เตาปิ้ง หรืออุปกรณ์หลอมสารตะกั่วออกจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนคัดสิ่งไม่ต้องการทิ้ง เหลือไว้เพียงแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปคัดแยกเอาทองคำอีกขั้นตอนหนึ่ง ส่วนเศษกากวัสดุขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ จำนวนมากเหล่านี้ ถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบเพื่อหาแหล่งที่มาของการนำเข้า เนื่องจากขยะเหล่านี้ประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้า เพราะถือว่าเป็นขยะอันตราย
พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ ลักลอบนำกากวัสดุขยะอุตสาหกรรม มาคัดแยกและแปรรูปวัสดุขยะอุตสาหกรรม โดยใช้ความร้อนในการหลอมละลายเอาสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ไปจำหน่ายต่อ ซึ่งขั้นตอนส่วนนี้ส่งผลให้เกิดมลพิษอย่างรุนแรง พร้อมสั่งการให้ตรวจสอบในเรื่องการขออนุญาต และขยายผลว่า บุคคลใดเป็นเจ้าของโรงงาน ซึ่งข้อมูลตำรวจพบว่า เจ้าของโรงงานเป็นนายทุนชาวจีน เบื้องต้นคาดว่าโรงงานแห่งนี้ ผิด 2 ข้อหา 1. ประกอบการแปรรูปขยะอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 2. ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการทำลายขยะอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.โรงงาน
ขณะที่ นายสุรพล เผยว่า โรงงานแห่งนี้ พบมีการขออนุญาตดำเนินกิจการคัดแยกและบดทำลายขยะ แต่เมื่อเกิดไฟไหม้เมื่อต้นปีที่แล้วก็ทำให้ชาวบ้านละแวกนี้ตั้งข้อสังเกตถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจึงแจ้งหน่วยงานราชการเข้ามาตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าขยะเหล่านี้อันตรายไม่สามารถคัดแยกได้ หลังจากนี้จะให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งปิดโรงงานแห่งนี้ไว้ชั่วคราวเนื่องจากการตรวจสอบลักษณะของโรงงานพบว่า มีการจัดการที่ผิดสุขลักษณะ เพราะไม่สามารถเก็บมลพิษได้ และที่ผ่านมาประเทศจีน ก็ไม่อนุญาตให้มีการคัดแยกขยะอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศตัวเองด้วย
...
"สำหรับวิธีการทำลายซากวัสดุอันตราย ประเภทนี้ ต้องมีระบบการจัดการที่เป็นโรงงานปิด ต้องใช้การเผาด้วยความร้อนสูงและมีการจัดการที่ดี จึงจะสามารถคัดกรองสารมลพิษต่างๆ ได้ ซึ่งในประเทศไทยมีการจัดการบ่ออุตสาหกรรม ที่ถูกต้องประมาณ 3 ถึง 4 บ่อ หลังจากนี้จะให้อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจสอบตั้งแต่การขอใบอนุญาตประกอบโรงงาน การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การทำลายขยะอุตสาหกรรม รวมถึงรายละเอียดทั้งหมดว่าผิดอะไรบ้าง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป" นายสุรพล กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทแห่งนี้มีการประกอบกิจการทั้งหมด 3 โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกันและใกล้กับที่พักอาศัยของประชาชนในละแวกดังกล่าว.