หอศิลป์กรุงเทพฯ กว่า 7 เดือนแล้วยังไม่ได้งบจาก กทม. โชคดีมีเงินตุนในเซฟ เพราะ 7 ปีบริหารไม่ขาดทุน ล่าสุดผู้ว่าฯ ถอยไม่ยึดหอศิลป์ฯ คืนแล้ว จับตาตั้งบอร์ดชุดใหม่คุมบริหาร
ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือหอศิลป์กรุงเทพฯ เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 7 เดือน หอศิลป์กรุงเทพฯ ยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากกทม.ตามสัญญา แต่ยังดี ที่ผ่านมามูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้บริหารพื้นที่ และพอมีรายได้ จึงมีเงินส่วนต่างที่เหลืออยู่
“กลางปีที่แล้วสภากทม.ไม่อนุมัติงบที่ขอไปเพื่อใช้ปีนี้ 40 ล้านบาท ตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ที่มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.2560 โดยสภากทม.เสนอว่าหากจะขอใช้งบให้อยู่ในการพิจารณาของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. โดยทางมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ต้องเสนอโครงการเพื่ออนุมัติทีละโครงการ และที่ผ่านมาก็เสนอโครงการไปแล้ว บางโครงการใช้งบ 5 แสนบาท แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติใด ๆ”
ดังนั้นค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนต.ค. 2560 จึงเป็นรายได้ที่เหลืออยู่จากช่วงหลายปีที่ผ่านมา และงบรายได้ที่มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้เช่าพื้นที่ และจากเอกชนผู้สนับสนุน
สำหรับผลงาน 7 ปี ที่มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ บริหารที่นี่ ภายใต้สัญญาการได้รับโอนสิทธิ์บริหารพื้นที่ ยืนยันมีรายได้ และงบประมาณที่ได้รับจากกทม.เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และย้ำว่าไม่ได้ขาดทุนปีละ 80 ล้านบาทอย่างที่ผู้บริหารกทม.บางคนออกมาระบุ
ที่ผ่านมาได้งบประมาณกทม.ปีละประมาณ 40-60 ล้านบาท รวม 7 ปีประมาณ 322 ล้านบาท และมาจากมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ บริหารพื้นที่ต่างๆ และผู้สนับสนุน ประมาณ 144 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่าย 7 ปี ประมาณ 426 ล้านบาท โดยรวมจึงยังเหลืองบอีกประมาณ 40 ล้านบาท
...
ในปีล่าสุด คือปี 2560 ได้งบจากกทม. 45 ล้านบาท มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ หารายได้เอง 37 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 75 ล้านบาท ส่วนจำนวนประชาชนที่เข้ามาที่หอศิลป์ฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2558 มี 1.1 ล้านคน ปี 2559 จำนวน 1.2 ล้านคน และปี 2560 มี 1.7 ล้านคน
“มูลนิธิบริหารพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ช่วง 3 ปีแรกยังไม่มีสัญญาโอนสิทธิ์ มูลนิธิจึงหารายได้จากการบริหารพื้นที่ไม่ได้ แต่นับตั้งแต่ปี 2554 ได้ทำสัญญาการโอนสิทธิ์ มีอายุสัญญา 10 ปีสิ้นสุดปี 2564 โดยตามสัญญากทม.ต้องจัดสรรงบส่วนหนึ่งเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ด้วย” ผศ.ปวิตร กล่าว
สำหรับงบที่ใช้ในปี 2551 กทม.อนุมัติงบให้หอศิลป์กรุงเทพฯ 29 ล้านบาท ใช้จนถึง 2553 จนกระทั่งปี 2554 มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้รับโอนสิทธิ์บริหารจัดการพื้นที่ และเริ่มสนับสนุนงบประมาณใหม่อีกครั้ง จนล่าสุดปี 2561 หอศิลป์กรุงเทพฯ ไม่ได้รับงบจากกทม.ดังกล่าว
แหล่งข่าวกทม.เปิดเผยว่า คณะกรรมการ และคณะกรรมการผู้บริหารของหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้หมดวาระตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หลังดำรงตำแหน่งมา 2 ปี ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการสรรหาใหม่ โดยผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสรรหา เพื่อเลือกคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าว ส่วนผศ.ปวิตรเพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา
ที่ผ่านมาในหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้เปิดให้แสดงงานศิลปะหลากหลายแขนง สะท้อนมุมมองความคิดทางสังคม รวมทั้งการเมืองผ่านงานศิลปะ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มความคิดทางการเมืองที่มักใช้พื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วย
เรื่องราวของหอศิลป์กรุงเทพฯ กลายเป็นประเด็นที่สังคมสนใจ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีเจ้าหน้าที่ของกทม. ได้แจ้งผู้บริหารหอศิลป์กรุงเทพฯ ว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.มีแนวคิดจะเพิ่มพื้นที่ชั้นล่าง ให้นักเรียน นักศึกษาได้มาใช้พื้นที่ และจะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักวัฒนธรรมฯ เข้ามาดูพื้นที่ ซึ่งหากจะใช้พื้นที่ชั้นล่างจะสามารถวางชุดโต๊ะเก้าอี้ได้ 100 ชุด แต่ปรากฏข่าวต่อมาว่ามีการเตรียมงบไว้จัดซื้อ 2,000 ชุด
ในเวลาต่อมาผู้ว่าฯ อัศวิน ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ให้เป็น Co- working space จนมีกระแสคัดค้าน และมีการรณรงค์ลงชื่อคัดค้าน จนล่าสุดผู้ว่าฯ อัศวินออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวอีก
ขอบคุณภาพ : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร