“โรคซึมเศร้า” นับเป็นโรคหนึ่งที่สร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ป่วย เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้หมดกำลังใจ ท้อแท้ในชีวิต ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งจากข้อมูลปี 2560 องค์การอนามัยโลกระบุว่าปัจจุบัน 1 ใน 20 คนของประชากรโลกกำลังป่วยด้วยโรคดังกล่าว และป่วยซ้ำสูงร้อยละ 50-70 ที่น่าเป็นห่วงคือเป็นต้นเหตุให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในประเทศไทยพบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ 44 หรือประมาณ 3 ล้านกว่าคน จากจำนวนวัยรุ่นทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน อัตราป่วยร้อยละ 18 ซึ่งคาดว่าป่วยแล้วกว่า 1 ล้านคน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตลูกหลานของท่านว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ อย่างไร

รู้จัก “โรคซึมเศร้า”

“โรคซึมเศร้า” เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งหากมีปัญหาเรื่องอารมณ์แล้ว ผู้ป่วยก็จะมีปัญหาของพฤติกรรมตามมาด้วย คนกลุ่มนี้จะมีภาวะซึมเศร้า หรือบางครั้งก็แสดงออกมาเป็นอารมณ์หงุดหงิด ซึ่งส่วนใหญ่โรคซึมเศร้าในเด็กจะแสดงออกมาในอารมณ์ที่หงุดหงิด

สาเหตุ

• เกิดจากการทำงานของสารเคมีในสมองมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
• เกิดจากความเครียดที่มากเกินไป หรือเรื้อรัง จะไปปรับการทำงานของสารเคมีในสมอง
• กรรมพันธุ์ ถ้ามีประวัติครอบครัวเคยมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่า

อาการ

อาการของโรคซึมเศร้า คือ มีอารมณ์เศร้า ในบางคนอาจจะเป็นหงุดหงิด ความอดทนลดน้อยไปจากที่เคยมี หมดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกผิด มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ไม่มีสมาธิ หากพบว่าลูกของท่านมีอาการดังกล่าว ควรพามาปรึกษาจิตแพทย์

...

ภาวะของโรคซึมเศร้ามีทั้งหมด 4 ประเภท คือ

1. การซึมเศร้าจากการปรับตัว เกิดจากการที่มีเรื่องมากระทบ และเด็กไม่สามารถปรับตัวกับเรื่องนั้นๆ ได้ จนมีอาการซึมเศร้า
2. ภาวะซึมเศร้าแบบน้อยๆ
3. ภาวะซึมเศร้าแบบเรื้อรัง กล่าวคือ มีอาการซึมไม่มากเท่าไร แต่มีอาการเศร้าแบบเรื้อรัง
4. ภาวะซึมเศร้าแบบรุนแรง ซึ่งมีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองสูงกว่าภาวะซึมเศร้าข้างต้น

แนวทางการรักษา

การรักษาภาวะซึมเศร้ามีทั้งการใช้ยา การทำจิตบำบัด และการปรับสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจในการเลือกวิธีการรักษา จิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและตัดสินใจใช้วิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วย แต่โดยทั่วไป หากไม่มีอาการรุนแรงมาก การปรับสิ่งแวดล้อมและการทำจิตบำบัดก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ หากแต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงการรักษาด้วยยาร่วมกับการทำจิตบำบัดจะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด

การรักษาโดยการปรับสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากสาเหตุหลักของภาวะซึมเศร้าก็คือความเครียด การรักษาก็คือบรรเทาความเครียดดังกล่าวให้คลายไป ส่วนมากในวัยรุ่นจะมีความเครียดในเรื่องการเรียนและเพื่อน

@ การเรียน นับเป็นปัญหาใหญ่ของวัยรุ่นแทบทุกคน ยิ่งถ้าลูกของคุณเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะคาดหวังให้เด็กเก่ง ส่วนเด็กที่เรียนเก่งมากๆ พ่อแม่ก็จะคาดหวังเช่นกัน และถ้าเด็กเรียนเก่งมากๆ ก็จะเป็นที่คาดหวังของครูและโรงเรียนด้วย ทำให้เขาต้องแบกรับความหวังของทุกคนเอาไว้ ส่งผลให้มีความเครียด พ่อแม่จึงควรให้เด็กได้เรียนตามความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่เรียนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่พ่อแม่พึงพอใจ เพราะในโลกยุคปัจจุบัน การสอนให้เด็กใช้ชีวิตให้เป็น ก็มีความหมายต่อความสำเร็จในอนาคตของเขาไม่ด้อยไปกว่าการเรียน ซึ่งหากพ่อแม่และครูหันมาทำความเข้าใจเด็กให้มากขึ้น ความเครียดก็จะน้อยลง

@ เพื่อน สำหรับวัยรุ่นนั้น เพื่อนมีความสำคัญมาก เด็กต้องการการยอมรับจากเพื่อนมาก จึงควรสอนให้เด็กมีลักษณะที่ดีในตัว นั่นคือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มองโลกในแง่ดี เห็นอกเห็นใจคนอื่น สิ่งต่างๆ  เหล่านี้จะทำให้เขาเป็นที่รักของเพื่อนได้ หรือหากเขามีปัญหากับเพื่อน หน้าที่ของพ่อแม่คือการรับฟัง และปลอบโยน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถลดความเครียดที่เกิดจากเพื่อนได้ แต่เมื่อกลับถึงบ้าน มีพ่อแม่ที่พร้อมจะเข้าใจเขา ก็จะช่วยให้ความเครียดเรื่องเพื่อนลดลงไปได้มากเลยทีเดียว

...

การป้องกัน

หากเป็นเรื่องของพันธุกรรม คงป้องกันได้ยาก แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือเรื่องของความเครียด พ่อแม่สามารถช่วยเหลือในกรณีที่เด็กเผชิญกับความเครียด โดยมีหลักการดังนี้

• ทำความเข้าใจเด็ก จะช่วยให้เขาคลายความเครียดลงไปได้มาก

• เลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นที่รักของพ่อแม่ จะช่วยสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้เด็ก

• สอนให้ลูกมองโลกในแง่ดี สอนให้เขารู้ว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ สิ่งที่เห็นว่าลบจริงๆ แล้วมันก็มีบวกซ่อนอยู่ ในทางกลับกันสิ่งที่บวกมันก็มีลบซ่อนอยู่ การสอนลูกให้มองโลกในแง่บวกเพื่อเป็นกำลังใจ ส่วนการมองโลกในแง่ลบ จะช่วยให้เราพัฒนาและปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป หากสามารถฝึกลูกให้เป็นคนมองโลกในแง่ดีได้ เขาจะเป็นคนที่มีต้นทุนชีวิตที่ดีมาก


• สอนให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง เข้าสังคมให้เป็น จะทำให้เขาได้รับการยอมรับจากคนอื่น

• สอนให้เด็กรู้จักวางแผนชีวิตเฉพาะเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าวางแผนทุกเรื่องของชีวิต ก็จะเครียด จึงควรสอนให้เขาจัดความสำคัญของชีวิตให้ได้ ว่าสิ่งนี้สำคัญควรทำ สิ่งนี้ไม่สำคัญไม่ต้องทำ

• สอนให้เด็กรู้จักให้อภัยตัวเอง คนเราทุกคนเกิดมาล้วนต้องเคยทำผิดพลาด และหากเราสามารถให้อภัยตัวเองได้ รู้จักปรับปรุงตัวเอง เขาก็จะจัดการกับความซึมเศร้าได้ง่ายมาก

• สอนให้เขารู้จักขอบคุณสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู ผู้มีพระคุณ หรือแม้กระทั่งขอบคุณตัวเอง หากทำได้เขาก็จะเป็นคนที่มีความสุข

• สอนเด็กตามวัยของเขา ไม่ควรสอนอะไรที่เกินวัย เช่น เด็กเล็กก็อย่าไปคาดหวังว่าเขาจะต้องทำนู่น ทำนี่ได้ ส่วนวัยรุ่นก็ต้องให้เกียรติเขาแสดงความคิดของตัวเองบ้าง อย่าไปทำเหมือนว่าเขายังเป็นเด็กเล็กๆ

แม้ว่าจากตัวเลขที่พบจะมีวัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้าค่อนข้างมาก แต่หากพ่อแม่ให้ความใส่ใจ ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดด้วยความรัก ความเข้าใจ ก็จะเป็นเกราะป้องกันให้พวกเขาห่างไกลจาก “โรคซึมเศร้า” ได้ดีที่สุด

--------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

รศ.พญ.สุวรรณี พุทธิศรี สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

...