“ใครๆ ก็คิดว่า การอยู่อย่างมองไม่เห็น เป็นเรื่องน่ากลัว ใช่ ฉันจะไม่เถียงหรอก ฉันจำได้ว่ามันทำให้ฉันเคยอึดอัดใจเพียงใด หรือเสียใจแค่ไหน แต่หากนั่นทำให้ฉันได้เป็น มี และรู้สึกอย่างในเวลานี้ บางทีนั่นอาจคุ้มค่า เพราะทุกอย่างที่ฉันเป็น มี และรู้สึกอยู่ช่างวิเศษเหลือเกิน
ถ้าฉันมองเห็น ฉันคงไม่รู้สึกว่า คุณค่าแห่งมิตรภาพยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ ฉันคงไม่รู้จักการไว้วางใจผู้อื่น ไม่รู้ว่าฉันมีครอบครัวที่แสนวิเศษ ฉันอาจไม่ได้เรียนโรงเรียนมัธยมซึ่งฉันเคยเรียน อาจไม่ได้พบผู้ที่ฉันรักในที่นี้”
นี่คือความรู้สึกของ “พลอย” สโรชา กิตติสิริพันธ์ุ นักเขียนผู้ดวงตาพิการของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่เธอเขียนไว้ในหนังสือ “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเธอ และได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559 ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี (สารคดี) จากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ดวงตาพิการก็เป็นนักเขียนหนังสือได้ แม้หลายคนมองว่าไม่มีวันที่จะเป็นทางคู่ขนานที่มาบรรจบกันได้
...
แค่ “กล้าทำลายความกลัว” ชีวิตในโลกมืด ก็มีแต่สิ่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ดวงตาพิการกับชีวิตในโลกมืดที่มองไม่เห็น ซึ่งบางคนหวาดกลัวที่จะไปเผชิญโลกภายนอก และเลือกดำเนินชีวิตเหมือนนกถูกขังในกรง คำว่าอิสรภาพก็หมดความหมาย ทว่าเธอกลับไม่เลือกจมปลักกับความเศร้า และไม่ท้อถอย ยังทำให้รู้อีกว่าผู้ดวงตาพิการก็สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติในอีกหลายๆ เรื่องได้ ขอเพียงกล้าทลาย “ความกลัว”
“จริงๆ แล้วพลอยเป็นคนขี้กลัว เมื่อก่อนกลัวมากกว่านี้ สิ่งที่เรากลัวเกิดจากการคิดไปเอง ความลำบากของคนมองไม่เห็น คือ การต่อสู้กับความเชื่อตัวเอง มองไม่เห็นจะทำอันนี้ อันนั้นไม่ได้ คนรอบข้างก็เชื่อเหมือนเรา กลัวว่าหากทำแล้วจะเกิดอันตราย ความคิดและความเชื่อเหล่านี้แหละ ทำให้คนมองไม่เห็นไม่กล้าทำอะไร พอไม่กล้า ก็ไม่ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วเราทำได้
ตอนแรกพลอยกลัวการเดินทางออกมาข้างนอกคนเดียว เพราะคิดว่าออกไป ถ้าหลงทางจะทำอย่างไร แต่พอออกมาแล้ว มันก็มีวิธีเรียนรู้ให้กลับมาได้ เจอคนมาช่วย สังเกตเส้นทาง ทำให้พลอยรู้ว่าพอทำลายความกลัว แล้วลงมือทำจริงๆ ก็ไม่มีสิ่งน่ากลัวอย่างที่เราคิด มันเลยทำให้พลอยอยากทำสิ่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และอยากทำลายความกลัวด้านอื่นๆ ด้วย” พลอยเล่าย้อนถึงแรงจูงใจที่ทำให้เธอเร่ิมกล้าเผชิญโลกกว้าง
การออกนอกบ้าน ไม่ใช่ความลำบาก คือ ความสนุก เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวัน
ด้วยโรคมะเร็งที่จอประสาทตา โดยเร่ิมจากดวงตาข้างซ้าย ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดนำลูกตาออก หลังจากคลอดมาได้เพียง 3 เดือน ทำให้พลอยมองไม่เห็นตั้งแต่ยังไม่รู้ความ อาจเพราะตัดสินใจรักษาช้าเกินไป ทำให้เชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ดวงตาข้างขวา พยายามจี้รักษา แต่ก็ไม่หาย
สุดท้ายเธอต้องเสียดวงตาขวาไปในวัยเพียง 2 ขวบ แต่พลอยก็ไม่ยอมแพ้ชะตาชีวิต อุปสรรคทางกาย ไม่อาจขัดขวางการเรียนรู้ของเธอได้ และการออกนอกบ้านยังถือเป็นเรื่องสนุกมากกว่าความลำบาก อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างชีวิต ช่วยสอนและสร้างความสุขให้ผู้อื่นด้วย
“ด้วยความเชื่อที่ว่าเราทำไม่ได้นี้ ทำให้ตอนแรกพลอย ไม่ได้เดินทางออกมาข้างนอกด้วยตัวคนเดียว เราเลยไม่รู้ว่าการเดินทางออกมาข้างนอกนั้น มีอิสระ การออกนอกบ้าน พลอยไม่รู้สึกว่าลำบาก มันเป็นเรื่องสนุกมากกว่า
...
ในทุกวันเหมือนเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เจอเรื่องราวดีๆ มีคนเข้ามาช่วยบอกทาง เจอพ่อกับลูกมาด้วยกัน แล้วพ่อสอนลูกว่า พี่เขามองไม่เห็น เราต้องช่วยเหลือนะ หรือสอนลูกว่าหากเรามองไม่เห็นจะรู้สึกอย่างไรครับลูก พลอยรู้สึกดี เหมือนเราเป็นคนที่ทำให้พ่อได้สอนสิ่งดีๆ กับลูก ลูกเขาก็มีความสุข และภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น
พลอยขึ้นรถไฟฟ้า มีน้องคนหนึ่งลุกให้นั่ง เขาทำก็มีความสุขว่าได้ทำสิ่งนี้ให้คนอื่นแล้ว ทำให้พลอยรู้สึกว่าการเดินทางออกไปข้างนอก มันสนุก ได้เจอคนที่ดีที่หลากหลาย” พลอยเล่าถึงความสุขในชีวิต
แรงลมใต้ปีกสำคัญ ครอบครัว ครู คนรอบข้าง
ถึงแม้ร่างกายไม่สมบูรณ์พร้อม พลอยก็สร้างโอกาสให้ตัวเองในทุกสถานการณ์ เปิดใจเรียนรู้อย่างไม่เคยหยุดนิ่ง และไม่ย่อท้อ ทำให้เธอได้ค้นพบความสามารถของตัวเองในอีกหลายๆ ด้าน พลอยบอกกับทีมข่าวฯ ว่า เธอโชคดีมากที่ครอบครัว และคนรอบข้าง เป็นแรงลมใต้ปีกที่พยุงเธอมาโดยตลอด ตั้งแต่เรียนชั้นระดับมัธยมที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ กระทั่งเรียนจบ ป.ตรี
...
“พลอยโชคดีที่มีคนสนับสนุนเยอะ คนช่วยเยอะ ทั้ง เพื่อน ครู ครอบครัว พลอยเรียนกับคนปกติมาตลอดตั้งแต่มัธยม เพราะมีโรงเรียนสอนคนตาบอดแค่ ป.6 อธิการโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนแวนต์ ใจดีก็รับพลอยและเพื่อนเข้าเรียน ครูก็ช่วยหาวิธีที่ทำให้พลอยเข้าใจบทเรียนได้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ครูก็ไปยืมอุปกรณ์จากโรงเรียนสอนคนตาบอดมา แล้วมาทำเป็นรูปให้สัมผัส
พลอยรู้สึกว่า พอมีคนช่วยเราเยอะ เราจะไม่ตั้งใจเรียนไม่ได้แล้ว เพราะครูอุตส่าห์วาดรูปเรขาคณิตให้ พ่อกับพี่สาวช่วยอ่านหนังสือให้ฟัง คนอื่นช่วยเราเต็มที่ เราก็ต้องเต็มที่ด้วย พลอยเรียนเป็นตำราเหมือนเพื่อนๆ ทุกอย่าง บางวิชาไม่มีภาษาเบรลล์ บางวิชาก็มี แต่ได้มาช้า เพราะชีทค่อนข้างเยอะ พลอยก็พยายามตั้งใจเรียนและคิดทำยังไงให้เรียนได้คะเเนนดีๆ จนท็อปในวิชาหลักๆ วิทย์ คณิต” พลอยเล่าด้วยรอยยิ้มสดใส
คิดค้นนวัตกรรมใหม่ เครื่องนำทางการเขียนให้คนตาบอด
โดยขณะเรียน ป.ตรี คณะอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาและวรรณคดีไทย ในปี 2556 งานหลักของวิชา คือ เขียนบันทึกประจำวัน เพื่อชักนำการคิดและการอ่านให้แสดงออก นับเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนมองไม่เห็น แต่ 1 ปีเต็มที่พลอยเพียรพยายามตั้งใจเขียนบันทึกของเธอ จนสุดท้ายกลายเป็นบันทึกที่ดีที่สุดของวิชานี้ และทำให้เธอเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1
...
จากนั้น อ.มกุฏ อรฤดี บก.สำนักพิมพ์ผีเสื้อ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยายและเรื่องสั้น) พ.ศ. 2555 เเละเป็นอาจารย์สอนวิชาดังกล่าว ก็ได้ให้โอกาสเธอทำงานบรรณาธิการฝึกหัดผู้ดวงตาพิการคนแรกของสำนักพิมพ์ ทำหน้าที่คิดและทำงานด้านผู้ดวงตาพิการกับหนังสือ
จนเธอมีงานเขียนของตัวเอง 2 เล่ม คือ หนังสือ “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” พร้อมวาดภาพประกอบเอง และ “ ก ไก่ เดินทางนิทานระบายสี” ได้รับรางวัลชมเชย ในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี (บทร้อยกรอง) จากคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหนังสือดีเด่น
“งานเขียนของพลอย คือ การค้นคว้าในฐานะคนมองไม่เห็น เพื่อให้ได้สิ่งที่เกิดประโยชน์กับคนมองไม่เห็น เช่น โครงการฝีกฝนผู้ดวงตาพิการให้เขียนหนังสือด้วยลายมือ ไม่มีใครเชื่อว่าคนตาบอดจะเขียนลายมือได้ แต่พลอยทำได้ และไปคิดต่อว่าคนตาบอดต้องทำอย่างไรจึงจะเขียนได้
เราจึงคิดสร้างเครื่องมือขึ้นมาได้สำเร็จ เรียกว่า เครื่องนำทางการเขียนสำหรับคนตาบอด แต่ยังไม่มีโอกาสขยายต่อ สิ่งนี้สำคัญเพราะว่าเวลาคนใบ้ กับคนตาบอดเจอกันจะสื่อสารกันไม่ได้ อะไรก็ตามที่เคยเป็นความเชื่อว่าคนตาบอดทำไม่ได้ เราทดลองหมดแล้ว และพลอยก็พยามยามจนสำเร็จ นอกจากเขียนหนังสือได้แล้ว พลอยก็วาดรูปได้ด้วย โดยฝึกทำซ้ำบ่อยๆ ก็ดีขึ้น จนมีความจำ และเชี่ยวชาญ” อ.มกุฏ กล่าว
การทดลองทำ คือ โอกาสสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้คนมองไม่เห็น
ความสามารถของ “พลอย” ไม่ได้มีเพียงแค่เขียนหนังสือ หรือวาดภาพ เธอยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ทำได้ดีมากกว่าคนปกติด้วยซ้ำ อาทิ เรียนศิลปะป้องกันตัว, เล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก ที่โรงเรียนสยามกลการ, เล่นกีตาร์, นักวิ่ง 13 กิโล โดยใช้เชือกจับแล้ววิ่งไปด้วยกันกับคนที่สายตาปกติ,
แต่งเพลงและเผยแพร่ให้ฟังในยูทูบ คือ “เพื่อนฝัน” จากการที่โครงการฝึกฝนผู้ดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ ที่อาจารย์มกุฏ มูลนิธิวิชาหนังสือ กับหอศิลปะร่วมสมัยกับกระทรวงวัฒนธรรมจัด อีกเพลงชื่อ “เพลงฝึกใจ” ในโครงการประกวดเขียนเพลง "คำพ่อสอน" ของมูลนิธิพระดาบสกับวิทยุจุฬาฯ ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งเพลงที่พลอยแต่งในโครงการ S2S Fly High ของสถาบันดนตรีคนตาบอด แต่เพลงยังไม่ได้เผยแพร่ และชื่อเพลงไม่ลงตัว
โดยกิจกรรมทุกอย่างที่ทำ เธอหวังจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มองไม่เห็นคนอื่นๆ ได้ลุกสู้ เพื่อเปิดโอกาสตัวเองได้พบความมหัศจรรย์ของตัวเองเช่นเธอ และอาจเกิดอาชีพใหม่ๆ ของคนในโลกมืด ที่ไม่ได้มีแค่ หมอนวด โอเปอเรเตอร์ หรือขายลอตเตอรี่
“พลอยสนุกกับทุกกิจกรรม ยังอยากทำอีกหลายอย่าง เพราะสิ่งที่ทำอยู่มันสามารถพัฒนาได้ไม่สิ้นสุด เช่น การวาดรูป ก็สามารถหาเทคนิคใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ พลอยอยากให้คนมองไม่เห็น สนุกกับสิ่งที่คิดอยากทำ หากเราสนุกกับการทดลองทำส่ิงใหม่ มันก็อาจจะช่วยให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ของคนที่มองไม่เห็น ให้ได้ทำงานอื่นบ้าง ที่ไม่ได้มีแค่โอเปอเรเตอร์ หมอนวด คนขายลอตเตอรี่
จะมีบ่อยๆ ที่รู้สึกท้อ พลอยก็เป็น หากสิ่งที่ทดลองทำไม่สำเร็จ รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่ายากจัง ความท้อมันเกิดจากการในเราเองที่ไปยังไม่ถึงในสิ่งที่คาดหวัง ท้อเพราะเหนื่อย แต่ถ้าเราค่อยๆ คิดหาวิธีใหม่ แล้วเราก็จะผ่านไปได้” พลอยกล่าวให้กำลังใจ
คนมองไม่เห็นด้วยกัน ย่อมเข้าใจกันได้ดี เหตุจูงใจอยากเป็นนักจิตบำบัด
ปัจจุบันพลอย กำลังเรียนระดับปริญญาโทจิตวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้คำปรึกษากับคนมองไม่เห็นให้คลายทุกข์กับปัญหาต่างๆ ด้วยเข้าใจดีว่าคนที่มองไม่เห็นนั้น ภายในโลกมืดต้องต่อสู้กับความกลัวในเรื่องต่างๆ มากมาย และคนที่มองไม่เห็นด้วยกัน ย่อมเข้าใจกันได้ดี
“ตอน ป.ตรี พลอยเรียนวิชาโทเป็นสาขาจิตวิทยาอยู่แล้ว ก็ทำให้รู้สึกเข้าใจคนพอควร แต่พอมาทำงาน เริ่มเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว ทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เจอคนเยอะขึ้น จึงรู้สึกว่าแต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลาย มีความคิดเป็นของตนเอง พลอยอยากเข้าใจคนอื่นๆ มากขึ้น จึงเลือกเรียนสาขาจิตวิทยาต่อ
พลอยรู้สึกว่าการให้คำปรึกษาสำหรับคนมองไม่เห็น ค่อนข้างสำคัญมากๆ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการและปัญหาที่เจอของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกัน ยิ่งคนเคยมองเห็น แต่บังเอิญเกิดอุบัติเหตุทำให้มองไม่เห็น ก็จะมีปัญหาเรื่องความกลัวมากๆ หลายเรื่อง ขนาดพลอยมองไม่เห็นตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนก็ยังกลัวมากที่ไม่กล้าออกไปไหน ปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจของคนที่มองไม่เห็น ตอนนี้ยังไม่มีการซัพพอร์ตที่ดีเท่าไหร่”
การมองไม่เห็น ไม่ใช่ว่าชีวิตต้องสิ้นหวังเสมอไป “พลอย” คือ บุคคลตัวอย่างที่ใช้ชีวิตในโลกมืดอย่างมีความสุข ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจ เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งใหม่ๆ รอบตัวเสมอตามที่เธออยากทำ นับว่าเป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีมีค่ายิ่งกว่าคำสอน จนได้รับคัดเลือกเป็นยุวสตรีพิการดีเด่น ในปี 2559
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่าน
มาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ