บทความสัปดาห์ที่แล้ว เราพาคุณผู้อ่านรู้จักโรคไต อาการ และสาเหตุกันไปแล้ว สัปดาห์นี้ เรามีความรู้เรื่องการรักษา และการป้องกันโรคไตมาฝาก (รักไต ดูแลไต ก่อน “โรคไต” มาเยือน (ตอน 1))

การรักษา

เมื่อเป็นโรคไตแล้ว จะไม่สามารถทำให้ไตกลับมาปกติได้เหมือนเดิม จึงต้องหาอะไรมาทำหน้าที่แทนไต ซึ่งเรียกว่า การบำบัดทดแทนไต ซึ่งมี 3 วิธี คือ

1.การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือ การนำเลือดที่มีของเสียออกจากตัวผู้ป่วยผ่านเครื่องฟอกเลือด โดยจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และต้องทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งการฟอกเลือดคนไข้ต้องเดินทางมาฟอกที่โรงพยาบาลเท่านั้น

2.การล้างไตทางช่องท้อง คือ การกำจัดของเสียออกจากร่างกายโดยการใส่น้ำยาสำหรับล้างท้องประมาณ 2 ลิตร เข้าไปในช่องท้อง ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมงต่อรอบ และต้องเปลี่ยนน้ำยาวันละ 4 ครั้ง คือ เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ที่สำคัญคือต้องทำทุกวัน และสามารถทำที่บ้านได้เอง ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล

3.การปลูกถ่ายไต คือ การผ่าตัดเพื่อนำไตจากผู้บริจาคที่เป็นญาติ หรือผู้เสียชีวิตมาใส่ให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งการมีไตเพียงข้างเดียว ก็สามารถขับของเสีย และช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ทัดเทียมเช่นเดียวกับคนที่มีไต 2 ข้าง

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า “ไต” ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย หากไตเสื่อมหรือทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ก็จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนไข้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไต จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของทุกคน

...

การป้องกัน

1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยลดโรคไตแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคสมองด้วย ควรออกกำลังกายให้มีเหงื่อออก โดยออกติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หากทำได้ตามนี้จะเป็นการบริหารไต

การออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การว่ายน้ำ เพราะเป็นการบริหารทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น แขน ขา ปอด และหัวใจ หากผู้สูงอายุไม่สะดวกในการว่ายน้ำ ก็สามารถเลือกปั่นจักรยานในสวน หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ก็ได้ หรือการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย เช่น การเต้นแอโรบิก หรือเต้นฮูล่าฮูป ก็เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

2.ควบคุมน้ำหนักและเบาหวาน การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จะช่วยป้องกันโรคไต เพราะหากอ้วนและเป็นเบาหวานเรื้อรัง ในอนาคตก็จะส่งผลให้เป็นโรคไตได้

3.ควบคุมความดันโลหิตและลดอาหารเค็ม โดยเฉพาะคนที่อายุ 50-60 ปีขึ้นไป ส่วนมากความดันโลหิตจะเริ่มสูง จึงต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ รวมถึงการงดกินอาหารรสเค็ม เพื่อลดปริมาณโซเดียมในร่างกาย ก็จะช่วยให้ไตไม่เสื่อมเร็ว

4.ดื่มน้ำเปล่าวันละ 2 ลิตร หรือประมาณ 8 แก้ว จะช่วยป้องกันโรคนิ่ว โดยมีหลักการดื่มน้ำให้ครบ 8 แก้ว โดยทยอยดื่มตลอดทั้งวัน

5.หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อทุกชนิด เพราะยาเหล่านี้มีผลทำให้ไตเสื่อม แต่เมื่อมีอาการปวด ควรหาวิธีคลายปวดด้วยการทำกายภาพบำบัด หรือนวดก็ได้

6.ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจเช็กค่าน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และการทำงานของไต หากตรวจพบความผิดปกติจะได้รีบรักษาอย่างทันท่วงที

แม้ว่า “โรคไต” จะเป็นโรคที่มีอันตราย และมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่หากทำตามคำแนะนำข้างต้น ก็จะช่วยป้องกันโรคไตและทำให้เรามีไตที่แข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆ

----------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

นพ.อดิศร ปทุมารักษ์ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล