“พลังพลเมือง”...พลังประชาธิปไตยที่ทำให้บ้านเมืองลงตัวและก้าวหน้า อยู่ในมุมคิดของราษฎรอาวุโส อาจารย์หมอประเวศ วะสี
ตัวอย่าง 3 ประเทศที่เจริญอย่างรวดเร็วภายหลังทำให้บ้านเมืองลงตัว คือ เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน เยอรมนี ถูกฮิตเลอร์ และพรรคนาซียึดครองประเทศ ก่อสงคราม บ้านเมืองปั่นป่วนรุนแรง...ผู้คนล้มตายและทำให้คนอื่นตาย...แพ้สงคราม ประเทศถูกแบ่งเป็นเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกขัดแย้งกัน
แต่...เมื่อแพ้สงครามแล้วกลับฟื้นตัว เจริญอย่างรวดเร็ว เพราะตั้งทิศทางประเทศใหม่ไม่ก่อศัตรู สร้างระบอบประชาธิปไตย พลเมืองขยันขันแข็ง เศรษฐกิจแข็งแรง แม้เมื่อรวมประเทศรับเยอรมนีตะวันออก ซึ่งยากจนเข้ามาก็ยังแบกรับภาระได้ กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจสังคมแข็งแรงที่สุดในยุโรป
ถัดมา...ญี่ปุ่น ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรัฐบาลทหารที่มีโตโจ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายสงคราม ก่อสงครามจนกลายเป็นมหาสงคราม ทำให้คนญี่ปุ่น...คนชาติอื่นๆตายไปหลายล้านคน บ้านเมืองถูกทิ้งระเบิด ปรมาณู ประเทศล่มสลายทุกๆทาง แต่หลังจากแพ้สงครามกลับเจริญอย่างรวดเร็ว เพราะมีระบบและทิศทางของประเทศที่ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย สงบไม่มีสงคราม เศรษฐกิจเติบโตใหญ่เป็นที่ 2 ในโลก มีภูมิประเทศและวัฒนธรรมที่งดงามจนใครๆก็อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น
จีน...ในครั้งโบราณเป็นมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่มาในยุคราชวงศ์ชิง บ้านเมืองเสื่อมทรามลง มีความระส่ำระสาย เกิดการกบฏต่อต้านอำนาจรัฐขึ้นมากมาย กบฏไท้ผิงมีคนตายถึง 20 ล้านคน มหาอำนาจยุโรปหลายประเทศเข้าไปรุกราน เอาเปรียบ ปล้นสะดม เอาฝิ่นไปยัดให้เกิดสงครามฝิ่น ญี่ปุ่นยกทัพเข้าบุกแผ่นดิน การฆ่าหมู่ที่นานกิงคนตายไปถึง 300,000 คน เรียกว่าเป็น “มหากลียุค” ของจีน
“ในสภาพกลียุค บ้านเมืองพัฒนาไม่ได้ อดอยากยากจนแสนสาหัส แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์นำโดยประธานเหมา ยึดอำนาจขับไล่ข้าศึก บ้านเมืองสงบสามารถจัดการปกครองที่กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และชนเผ่าอย่างทั่วถึง มีกลไกบริหารประเทศที่มีสมรรถภาพ ยุตินโยบายสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่น แต่แทนที่ด้วยความเป็นมิตร บ้านเมืองก็จะเจริญอย่างรวดเร็ว จนเศรษฐกิจกำลังจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว”
...
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจริญอย่างรวดเร็ว คือ (1) บ้านเมืองสงบลงตัวและใช้สันติวิธี (2) พลเมืองมีคุณภาพ...ฉะนั้นกุญแจสำคัญ 2 ดอกคือ ระบบของประเทศที่ลงตัว กับพลเมืองที่มีคุณภาพ
ที่ประเทศไทยไม่ก้าวหน้ารวดเร็วอย่าง 3 ประเทศที่ยกตัวอย่าง หรือประเทศที่เคยด้อยพัฒนากว่า แซงขึ้นหน้าไป เช่น เกาหลี มาเลเซีย ก็เพราะในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถสร้างระบบประเทศที่ลงตัวและพลเมืองที่มีคุณภาพ การเมืองเป็นการต่อสู้เชิงปฏิปักษ์ (antagonistic) ระหว่างขั้วตรงข้ามที่มุ่งทำลาย
เช่น ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง...ฝ่ายที่ชอบเจ้ากับฝ่ายไม่เอาเจ้า... ฝ่ายกองทัพกับฝ่ายไม่เอากองทัพ...ฝ่ายทุนนิยมกับฝ่ายสังคมนิยม...ฝ่ายรักทักษิณกับฝ่ายเกลียดทักษิณ
“ความคิดเชิงปฏิปักษ์นำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรง แต่ไม่สามารถสร้างความลงตัวบ้านเมืองที่ทำให้เราเจริญอย่างรวดเร็วได้...ระบบราชการเป็นระบบควบคุมที่รวมศูนย์อำนาจ ไม่ใช่ระบบส่งเสริมความงอกงาม”
ระบบการศึกษาซึ่งอยู่ในระบบราชการจึงล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพคน เพราะความขัดแย้งกันระหว่างระบบควบคุมกับระบบความงอกงาม การศึกษาเป็นความงอกงามอย่างอิสระหลากหลายและเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์โดยรวม ระบบราชการไม่ “cost–benefit” หรือ...ได้ประโยชน์คุ้มค่า หรือเป็นระบบที่ทำให้ประเทศขาดทุนนั่นเอง ต้องการปฏิรูปแต่ก็ปฏิรูปตัวเองไม่ได้ ระบบการเมืองก็ไม่แข็งแรงและมีพลังพอที่จะปฏิรูประบบราชการ หรือตรงข้ามกลับโดนระบบราชการควบคุม ประเทศจึงติดอยู่อย่างนี้
อาจารย์หมอประเวศ ย้ำว่า ถ้าการเมืองยังคิดเชิงปฏิปักษ์ระหว่างฝ่ายที่เห็นตรงข้ามก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงอีก เมื่อเกิดความรุนแรงกองทัพก็เข้ามามีบทบาทอีก แต่กองทัพก็ไม่สามารถสร้างความลงตัวให้บ้านเมืองได้ เพราะถึงอย่างไรก็จะมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่กองทัพจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง
ทางออกจากวัฏฏะอันไม่สร้างสรรค์ หนึ่ง...ทุกฝ่ายเปลี่ยนวิธีคิดเชิงปฏิปักษ์ มาสู่ปัญญาว่าการดำรงอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายเป็นของดี การคิดตรงข้ามไม่ควรเป็นปฏิปักษ์ ชีวิตร่างกายก่อตัวขึ้นมาจากความหลากหลาย ถ้ามีสิ่งเหมือนๆกันก็จะมีชีวิตขึ้นมาไม่ได้ หรือบ้านที่สวยงามน่าอยู่มีส่วนประกอบที่หลากหลาย
สอง...เข้าใจพลังประชาธิปไตยที่จะมากำกับพฤติกรรมทางการเมือง พฤติกรรมระบบราชการ พฤติกรรมระบบการศึกษาและพัฒนาคนที่ทำให้บ้านเมืองลงตัวและคนมีคุณภาพ นั่นคือ “พลังพลเมือง”
“เราคร่ำเคร่งกับการเขียนรัฐธรรมนูญแล้วมากกว่า 20 ฉบับ ทำไมจึงไม่สามารถสร้างความลงตัวในบ้านเมือง ถ้าเราเข้าใจการเล่น ฟุตบอลจะรู้ว่า ทำไม...รัฐธรรมนูญไม่ว่าเขียนดีอย่างไร จึงไม่สามารถสร้างความลงตัวให้บ้านเมือง”...ในระบบการเล่นฟุตบอล มีกรอบ กติกา และกลไก กรอบคือขอบเขตของสนาม มีผู้กำกับเส้นให้เล่นกันอยู่ในกรอบ และมีกรรมการเป็นผู้รักษากติกา แต่กรรมการและผู้กำกับเส้นโกงได้เสมอ ถ้าถูกใส่เงินให้ทำ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะมีคนดูคอยกำกับ
“รัฐธรรมนูญ...สร้างกรอบ กติกา และกลไก ไม่ว่าสร้างดีแค่ไหนก็โกงกันได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเงินขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาททางการเมือง ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างคือคนดูที่มีคุณภาพ คนดูที่มีคุณภาพคือพลังพลเมือง...พลเมืองคือเจ้าของประเทศ มีความต้องการการเมืองที่ดี”
ซึ่งควรแยกระหว่าง “พลังพลเมือง” กับ “พลังประชาชน” ที่สนับสนุนพรรคการเมือง พรรคการเมืองอาจสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน เพราะต้องการหาเสียงให้ประชาชนมานิยมพรรคตน รังเกียจพรรคอื่น พรรคการเมืองอาจนำประชาชนให้แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ขัดแย้งหรือปะทะกัน...พลังพลเมืองไม่แบ่งแยกตามพรรคการเมือง แต่ทั้งหมดเป็นพวกเดียวกัน เป็นพลังพลเมืองของพลเมือง โดยพลเมืองและเพื่อพลเมือง
สามารถส่งเสริม กำกับให้พรรคการเมืองมีความถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง เนื่องจากพลังพลเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตของประเทศ...
องค์กรทุกชนิด ทั้งองค์กรท้องถิ่น องค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรทางการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคธุรกิจ และองค์กรทางการสื่อสาร ควรส่งเสริมความเข้มแข็ง...ให้มีการรวมตัว การจัดการ มีข้อมูลและความรู้สามารถสังเคราะห์นโยบายสาธารณะ สามารถสื่อสารและขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเข้มแข็ง นี่คือพลังประชาธิปไตยที่มีคุณภาพยิ่งและไม่ขัดแย้งกับประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง แต่จะไปทำให้ประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งมีคุณภาพ และบ้านเมืองลงตัว
เนื่องจากพลังพลเมืองไม่ได้ไปเป็นฝักฝ่าย แยกข้างแยกขั้วทางการเมือง แต่เป็นพลังที่เป็นกลาง ใช้ปัญญาและสันติวิธี ฉะนั้นจึงมีความปลอดภัยที่ฝ่ายต่างๆจะสนับสนุนได้ด้วยความสะดวกใจ
รัฐบาลนี้หรือไม่ว่ารัฐบาลต่อๆไป ควรมีนโยบายส่งเสริม “พลังพลเมือง” เพราะจะทำให้บ้านเมืองลงตัว ซึ่งลำพังพรรคการเมืองหรือกองทัพก็ทำไม่ได้
“พลังพลเมือง”...ที่ตื่นรู้ เข้มแข็ง และแข็งขัน คือพลังประชาธิปไตยที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายมีทางออก ทำให้บ้านเมืองมีความลงตัว ก้าวหน้าไปสู่การเป็นสังคมศรีอาริยะในเวลารวดเร็ว.