จันทร์หน้า 23 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. จะนั่งหัวโต๊ะเป็น ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา “ร่างทีโออาร์” การประมูลสัมปทานสองบ่อก๊าซใหญ่ในอ่าวไทย แหล่ง “เอราวัณ” และ “บงกช”ที่จะ สิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565–2566 อีก 4 ปี 5 ปีข้างหน้า การประมูลล่าช้ากว่ากำหนดอยู่แล้ว ถ้าเลื่อนการประมูลออกไปอีกมีการคำนวณกันว่า จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศสูงถึง 350,000 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว
การประชุมอนุมัติทีโออาร์ครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
การประมูลแหล่งก๊าซ “เอราวัณ” และ “บงกช” ครั้งนี้จะใช้ระบบการประมูลแบบใหม่คือ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” (PSC) ตามที่เอ็นจีโอเรียกร้อง รัฐบาลจะร่วมเป็นเจ้าของบ่อก๊าซผ่านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้เข้าประมูลต้องเสนอส่วนแบ่งกำไรให้รัฐไม่ตํ่ากว่า 50% และ แหล่งก๊าซเอราวัณต้องมีปริมาณการผลิตขั้นตํ่าที่ 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี แหล่งก๊าซบงกชต้องมีปริมาณการผลิตขั้นตํ่าที่ 700 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี
รายละเอียดของ ร่างทีโออาร์ ที่ กพช. รับหลักการไปก่อนหน้านี้เริ่มตั้งแต่ การเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น ระยะเวลาการยื่นเอกสาร รูปแบบการยื่นเอกสาร และ วิธีการให้คะแนน ซึ่งจะเป็นแบบ วัดตัวเลขประเมินคะแนนได้ทันที โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจ
ผมอ่าน ร่างทีโออาร์ คร่าวๆแล้วก็รู้สึกเป็นห่วง ถ้ารัฐยึดผลประโยชน์ของรัฐอย่างเดียว สุดท้ายอาจเกิดความเสียหายแบบเดียวกับ การประมูลคลื่นมือถือ และ ทีวีดิจิตอล แต่การเสียหายครั้งนี้จะใหญ่หลวงกว่าคลื่นมือถือและทีวีดิจิตอลหลายเท่า
ปัจจุบัน แหล่งก๊าซบงกช มี ปตท.สผ. บริษัทลูก ปตท. ถือหุ้นใหญ่กว่า 66.66% ถือได้ว่าแหล่งก๊าซของไทยมี บริษัทโททาล อีแอนด์พี ของฝรั่งเศสร่วมถือหุ้นกว่า 33.33%
...
แหล่งก๊าซเอราวัณ มี บริษัทเชฟรอน ประเทศไทย สัญชาติอเมริกันถือหุ้นใหญ่ ปตท.สผ. ถือหุ้นอยู่แค่ 5% มีข่าวว่า ปตท.สผ. จะเข้าประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณแข่งกับ เชฟรอน ด้วย เพราะมีเงินสดอยู่ในมือกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ 128,000 ล้านบาท
แหล่งก๊าซสองแห่ง ถ้าผู้สัมปทานเดิม ปตท.สผ. และ เชฟรอน ประมูลได้ไป ทุกอย่างคงไม่มีปัญหา การผลิตการลงทุนจะต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นผู้สัมปทานรายใหม่ก็ต้องลงทุนใหม่หมด ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-4 ปี กว่าจะเริ่มผลิตได้ เพราะต้องเริ่มต้นใหม่หมดตั้งแต่ การสร้างแพลตฟอร์มการผลิตใหม่ การขุดเจาะหลุมก๊าซใหม่ เพราะรายเก่าที่ประมูลไม่ได้ จะไม่มีการลงทุนเพิ่มในช่วง 4-5 ปีก่อนหมดสัมปทาน แต่จะเร่งผลิตจากหลุมเก่าให้หมด
เรื่องที่ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ กระทรวงพลังงาน ต้องคำนึงอย่างมากๆก็คือ บริษัทน้ำมันจีน ที่จะเข้ามาร่วมประมูลด้วย เพื่อสร้างแหล่งพลังงานตาม “เส้นทางสายไหม ใหม่จีน” ตามนโยบายของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน บริษัทน้ำมันจีนอาจทุ่มเงินอย่างไร้เหตุผล เพื่อให้ได้สองแหล่งก๊าซนี้ สนองนโยบายผู้นำจีน ยิ่งเห็น “รัฐบาลไทยงกเงิน” และ ร่างทีโออาร์ ก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า “จะวัดตัวเลขประเมินคะแนนได้ทันที โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจ” จะยิ่งเข้าทางจีน และน่าเป็นห่วงอนาคตพลังงานไทยเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อจีนทุ่มเงินก้อนใหญ่ได้แหล่งก๊าซในอ่าวไทยไป รับประกันซ่อมฟรีว่า จีนจะขนเอา “แรงงานจีน” มากมาย เข้ามาเป็น แรงงานก่อสร้างแพลตฟอร์มขุดเจาะก๊าซในอ่าวไทย จ้างบริษัทจีนมาเป็นซัพพลายเออร์ทั้งหมด เหมือนกับที่ทำในประเทศอื่น แรงงานไทย และประเทศไทยจะไม่ได้อะไรเลย นอกจากส่วนแบ่งกำไร 50% ในอนาคตที่ไม่แน่นอน
ผมหวังว่า นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้ “ดุลพินิจ” พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ บทเรียนก็มีแล้ว อย่าทำผิดซ้ำอีก.
“ลม เปลี่ยนทิศ”