ปฏิรูปสังคม ยืดอายุข้าราชการ

ว่าไปแล้วแนวคิดขยายเกษียณอายุราชการเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุดได้เกิดความเป็นจริงขึ้นแล้ว โดยมีราชกิจจานุเบกษาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการประกาศแผนปฏิรูปประเทศ 11 เรื่อง และในเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านสังคม

ประเด็นระบุให้ขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี (ใช้เวลา 6 ปี คือ 2 ปี ขยาย 1 ปี) เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายเวลาทำงานและค่อยๆขยายเวลาเป็น 2 ปี ขยาย 1 ปี

เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจ้างงานคนรุ่นใหม่ที่ทดแทนคนเกษียณโดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย

แผนดังกล่าวระบุเป้าหมายว่าอยู่ที่การให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุที่ 63 ปี ในปี 2567

เมื่อข่าวนี้ออกมาบรรดาข้าราชการไม่ว่าเป็นพลเรือน ทหาร ตำรวจ ต่างให้ความสนใจเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับ
พวกเขาโดยตรง

นั่นหมายถึงอนาคตข้างหน้า

ก่อนไปว่าถึงรายละเอียดต่างๆ พบว่าประเทศในโลกนี้มีข้าราชการเกษียณอายุเกิน 6 ปี มีจำนวนหลายประเทศ

เกษียณอายุเมื่อมีอายุ 65 ปี คือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา ชิลี เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี กรีซ

อายุ 66 ปี โรมาเนีย สิงคโปร์ สเปน สวีเดน สวิตฯ ไต้หวัน สหรัฐฯ และอังกฤษ

67 ปี อินเดีย ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์

68 ปี นิวซีแลนด์ นอร์เวย์

แต่ของประเทศไทยนั้นยังไม่มีความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมและไม่รวมข้าราชการทั้งระบบ แต่จะพุ่งเป้าหมายไปที่พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่รัฐเกษียณอายุที่ 63 ปี ในปี 2567 ทั้งนี้ การขยายอายุจะดำเนินการเฉพาะตำแหน่งสำคัญและเป็นความต้องการของหน่วยงานนั้นๆ

...

ขณะเดียวกันผู้ที่จะได้ขยายอายุบางตำแหน่งงานที่ให้ผู้สูงอายุสามารถรับงานเป็นชิ้นงานเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันตามศักยภาพและสภาพแวดล้อม โดยไม่ต้องผูกพันทำงานเต็มเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน

สรุปได้ว่าโอกาสที่จะขยายเกษียณอายุราชการทั้งระบบไปอีก 3 ปีนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาด้านงบประมาณและต้องการให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่ระบบราชการทดแทนกันไป

ปัจจุบันผู้สูงอายุของประเทศไทยกำลังเป็นปัญหาสำคัญเพราะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่รัฐบาลวิตกและกำลังเร่งแก้ไขปัญหา

อีกด้านหนึ่งคือปัญหาการขาดแคลนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเกิดความไม่สมดุล รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะให้ทุกครอบครัวมีลูกเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการทดแทน

หลายประเทศเกิดปัญหาในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือแม้ประเทศจีน ซึ่งมีพลเมืองมากที่สุดในโลกก็เกิดปัญหา
ไม่ต่างกัน

จากที่ผ่านมากำหนดว่าพ่อ-แม่จะมีลูกไม่เกิน 1 คน เพราะป้องกันไม่ให้มีพลเมืองมาก แต่ปัจจุบันขาดแคลนคนรุ่นใหม่ จึงกำหนดให้มีเพิ่มเป็น 2 คน

เหนืออื่นใดในส่วนของประเทศไทยที่เพิ่มต้นเรื่องขยายอายุราชการ คงต้องศึกษารายละเอียดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และความชัดเจนอีกครั้ง

ความจริงแล้ว เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของประเทศ แต่ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขคือด้านคุณภาพคนและงาน

ที่สุดของที่สุดก็คือการทุจริตคอร์รัปชัน.

“สายล่อฟ้า”