ปี 2564...ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” หรือที่เรียกว่า Completeaged society โดยวัดจากการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ เช่นเดียวกัน

การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ประชากรสูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมาก โดยกลุ่มอายุ 60 ปี เพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณ 5% ต่อปี และกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มด้วยอัตราสูงมากกว่า 6% ต่อปี

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อย่างเช่นถ้าในปี พ.ศ. 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด นั่นหมายถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 35% ของผู้สูงอายุจะมีภาวะอ้วน 7% เคยหกล้มภายในบ้านมากกว่า มากกว่า 60% ของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง” รองอธิบดีกรมอนามัยบอก

นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ ประมาณว่ามากกว่า 10% ของผู้สูงอายุวัยปลายจะเป็นโรคเบาหวาน มากกว่า 70% ของผู้สูงอายุวัยปลาย มีฟันไม่ครบ 20 ซี่ และประมาณ 56% จะมีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

...

คุณหมออรรถพล บอกว่า กรมอนามัยตั้ง เป้าหมายให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดในอีก 20 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 85 ปี และต้องอยู่อย่างมีสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 75 ปี โดยเริ่มดำเนินงาน ส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า “4 Smart” หนุนผู้สูงอายุสุขภาพดี

“เราได้เริ่มนำแนวคิดที่เรียกว่า 4 Smart มาใช้ เป็นหลักง่ายๆที่ถ้าผู้สูงอายุทำได้ก็ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพดี สรุปย่อง่ายๆคือ ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย” คุณหมออรรถพลอธิบาย

แนวคิด 4 Smart สำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย หลัก Smart 4 ด้าน คือ

1. Smart Walk ผู้สูง อายุควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม โดยให้ผู้สูงอายุออก กำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีแนวโน้ม หกล้มประมาณ 28-35% ต่อปี และจะเพิ่มเป็น 32-42% เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 70 เป็นต้นไป และพบว่าเมื่อผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกหัก พบว่า 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นตลอดไป นอกจากนี้ ยังพบว่าการหกล้มเป็นสาเหตุสำคัญของการเข้าโรงพยาบาลในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งการหกล้มในผู้สูงอายุอาจกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดความพิการ หรือแม้กระทั่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้

2.Smart Brain & Emotional เน้นให้ผู้สูงอายุดูแลฝึกทักษะทางสมอง ส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียน ผู้สูงอายุ รณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่

3.Smart Sleep คือ นอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง

4.Smart Eat ผู้สูงอายุควรได้กินอาหารตามหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล ซึ่งมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดี สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดี มีฟันใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่

รองอธิบดีกรมอนามัย บอกอีกว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมสุขภาพกายในด้านต่างๆแล้ว ยังต้องมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ความรอบรู้ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคดิจิทัล โดยได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “สูงวัย สมองดี” และคู่มือส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและป้องกันภาวะสมองเสื่อม ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อยด้วย

สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีทั้ง วันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันครอบครัว ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเยี่ยมครอบครัว นพ.อรรถพลทิ้งท้ายว่า กรมอนามัยขอสนับสนุนให้ทุกครอบครัวสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มอบความรักต่อผู้สูงอายุด้วยการกอดพ่อแม่ ดูแลตัดเล็บมือ เล็บเท้า การรดน้ำดำหัว หรือทำกิจกรรมร่วมกันด้วยการพาผู้สูงอายุไปทำบุญ ปฏิบัติธรรมที่วัด ชวนทำงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เล่นเกมฝึกสมอง ฯลฯ

...

เพื่อให้ผู้สูงอายุเพลิดเพลินและมีความสุขกับทุกคนในครอบครัว อันเป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อผู้สูงอายุที่เป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวด้วย.