นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูนิฟอร์ม เซอร์วิสในเมืองเบเทสดา รัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยการวิจัยลงในวารสารทางการแพทย์ JAMA Pediatrics เมื่อเร็วๆนี้

เกี่ยวกับการศึกษาทารกที่ได้รับยาลดกรดหรือยาปฏิชีวนะ ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคภูมิแพ้ในวัยเด็กเพราะยาเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร จากการรวบรวมรายงานสุขภาพของเด็กที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2544–2556 ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองจากไทรแคร์ (Tricare) เป็นโปรแกรมประกันภัยสำหรับบุคลากรทางทหารที่เกษียณรวมถึงครอบครัวในสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่น่าแปลกใจคือเด็ก 9% ที่ได้รับยาลดกรด เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในการรักษาสภาวะการไหลย้อนกลับในทารกตอนต้น ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกเด็กที่ได้รับยาลดกรดมีโอกาสแพ้อาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า รวมทั้งมีโอกาสเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงกว่า 50% ส่วนเด็กทารกที่ได้รับยาปฏิชีวนะอาจมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคหอบหืด เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาภายหลัง พบว่าเด็กมากกว่าครึ่งหนึ่งมีการพัฒนาของอาการแพ้อาหารหรือยา มีผื่นแดง หืดหอบ หรือเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ แม้การวิจัยดังกล่าวจะยังไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุได้ แต่เป็นไปได้ว่าโรคเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับยาลดกรดและยาปฏิชีวนะ

นักวิจัยเผยว่าแบคทีเรียในกระเพาะอาหารมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ยาปฏิชีวนะและยาลดกรดอาจเปลี่ยนไมโครไบโอม (microbiome) คือข้อมูลทางพันธุกรรมหรือจีโนม (genome) ของแบคทีเรียในร่างกายของทารก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดในระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากยาลดกรดจะเปลี่ยนแปลงวิธีการย่อยโปรตีนและบางส่วนอาจไปก่อกวนการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วยาเหล่านี้ถือว่าไม่เป็นอันตราย แต่ก็ควรระมัดระวังในการบริโภค.

...