เมื่อวันที่ 5 เม.ย. บริษัทเฟซบุ๊กแถลงปรับตัวเลขผู้ใช้เครือข่ายเฟซบุ๊กทั่วโลก อาจถูกละเมิดสิทธินำข้อมูลส่วนบุคคลไปแสวงประโยชน์ใช้มากถึงกว่า 87 ล้านราย ไม่ใช่กว่า 50 ล้านรายตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ โดยข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กในอังกฤษ ถูกละเมิดมากราว 1.1 ล้านราย และอีก 16 ล้านรายอยู่ในประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทที่ปรึกษาการเมือง “เคมบริดจ์ อานาไลติก้า” ของอังกฤษ ถูกระบุนำข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กไปแสวงประโยชน์จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วและอื่นๆ รวมถึงการส่งแบบสอบถามออนไลน์ถึงผู้ใช้เครือข่ายเพื่อเก็บข้อมูล

นายมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ประธานเฟซบุ๊ก แถลงแสดงความรับผิดชอบเรื่องนี้ ระบุเฟซบุ๊กจำเป็นต้องดำเนินการอีกมากเพื่อปกป้องและแก้ปัญหา เพราะสิ่งที่ดำเนินการในอดีตที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ แต่เรารู้และเข้าใจ อย่างไรก็ตาม นายซัคเกอร์เบิร์ก กล่าวปฏิเสธต่อกรณีข้อซักถามสื่อมวลชนว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เรื่องนี้จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของนายซัคเกอร์เบิร์กในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท โดยนายซัคเกอร์เบิร์กพูดเสียงแข็งว่าเท่าที่รู้คือไม่มี

ขณะที่นายสกอตต์ สตริงเจอร์ ประธานกองทุนผู้เกษียณอายุประจำนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งทางกองทุนเป็นผู้ถือหุ้นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในบริษัทเฟซบุ๊ก ได้เรียกร้องให้นายซัคเกอร์เบิร์กลาออกจากตำแหน่ง โดยระบุว่า ขณะนี้เฟซบุ๊กมีผู้ใช้กว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก แต่บริษัทกลับเหมือนเรือที่หลงทางอยู่ในน่านน้ำใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน มิได้ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจ และมีความปลอดภัยต่อข้อมูลส่วนตัว ดังนั้น จึงเหมาะสมหรือไม่ ที่เฟซบุ๊กควรเริ่มประวัติศาสตร์บทใหม่ กระนั้นแน่นอนว่านายซัคเกอร์เบิร์กเป็นผู้ครองเสียงของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จึงไม่มีทางถูกไล่ออกได้ มีทางเดียวคือเจ้าตัวต้องลาออกเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ

...

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เฟซบุ๊กจะต้องดำเนินการหลังจากนี้ อาทิ หยุดแอพพลิเคชั่นต่างๆที่จะเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้เครือข่ายและเพิ่มการตรวจสอบผู้จะเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้รายอื่น ขณะที่นายซัคเกอร์เบิร์กต้องเข้ารายงานและให้การต่อคณะกรรมาธิการการค้าของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ ส่วนรัฐบาลออสเตรเลียเริ่มกระบวนการสอบสวนสืบสวนการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเฟซบุ๊ก เพราะผู้ใช้เฟซบุ๊กในออสเตรเลียได้รับผลกระทบด้วยมากราว 300,000 ราย.