“ปลูกถั่วเขียวแทนทำนาปรัง รัฐสนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,000 บาท ถ้าเราดูแลจัดการดีๆ ผลผลิตมากกำไรเป็นของเรา แม้รายไหนปลูกทิ้งๆ ไม่ดูแลเอาใจใส่ ถึงจะได้ผลผลิตน้อย แต่ยังมีกำไรมากกว่าทำนา”
สมชาย เสร็จกิจ ชาวนาบ้านดอนยาว ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เผยว่า แม้สุพรรณฯ จะได้ชื่อเป็นอู่น้ำอู่ข้าว น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวได้เกือบทั้งปี แต่วันนี้ทำนาแต่ละรอบต้องใช้เงินลงทุน ไร่ละ 5,200 บาท แต่ขายข้าวได้ 6,300-6,500 บาท แทบไม่คุ้มทุน ยิ่งช่วง 3-4 ปี อากาศร้อนแล้ง หนอน เพลี้ยระบาดมาก ฤดูนาปรังถ้ายังดื้อปลูกข้าวต้นทุนจะสูง โดยเฉพาะบางพื้นที่ น้ำแห้งขอดมากๆ ต้องเสียเงินซื้อน้ำมันสูบน้ำเข้าแปลงนา ไม่ให้ต้นข้าวยืนต้นตาย ขาดทุนหนัก
ปีที่แล้วเลยเข้าร่วมโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เลือกปลูกถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน แต่ฝักถั่วแก่ไม่พร้อมกัน ต้องใช้แรงงานคนเก็บ แทบไม่คุ้มทุน...ปีนี้ ผอ.สุทธิพงษ์ จ่างทอง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สนง.เกษตร อ.สามชุก แนะให้เปลี่ยนมาใช้พันธุ์ชัยนาท 84-1 ให้ผลผลิตสูง
...
ถั่วเขียวมีขนาดเมล็ดใหญ่ เปอร์เซ็นต์แป้ง 54.85% เหมาะสำหรับแปรรูปทำวุ้นเส้น หรือนำไปเพาะถั่วงอกได้ต้นอวบเป็นที่ต้องการของตลาด พ่อค้าเลยให้ราคารับซื้อเมล็ดถั่วเขียวพันธุ์นี้ กก.ละ 19-20 บาทต่อ กก.
การจะปลูกถั่วเขียวให้ได้คุณภาพ สมชาย แนะ...หลังเกี่ยวข้าว เก็บเกี่ยวฟางขาย สภาพดินอย่าชื้นหรือแฉะมากเกิน สังเกตได้ด้วยการใช้จอบขุดลึก 1 หน้าจอบ หยิบดินขึ้นมากำแล้วปล่อยลงพื้น ถ้าดินจับตัวเป็นก้อนไม่แตก แสดงว่าความชื้นดินสูง ยังปลูกถั่วไม่ได้
ส่วนกรณีที่ใช้ผานไถปรับหน้าดินสังเกตรอยผานไถ ถ้าดินจับตัวเป็นก้อนใหญ่แสดงว่าความชื้นยังสูง แต่ถ้าดินยังจับตัวเป็นก้อนเล็กๆ ร่วนซุย เป็นอันว่าลงมือปลูกถั่วเขียวได้เลย ใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวไร่ละ 8-10 กก.
ต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมค่าปั่นดิน ค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าเกี่ยว เฉลี่ยไร่ละ 2,000 บาท ปลูกถั่วเขียวเสร็จแล้วดูแลดีๆ 75-80 วัน ฝักถั่วเปลี่ยนเป็นสีดำ เป็นอันว่าเรียกรถเกี่ยวได้...พื้นที่ 1 ไร่ จะได้ผลผลิต 200-226 กก.
หักต้นทุนยังได้กำไรครึ่งต่อครึ่ง บวกเงินสนับสนุนจากรัฐไร่ละ 2,000 บาท รวมแล้วได้กำไรไร่ละ 4,000 บาท ดีกว่าปลูกข้าวนาปรังเหลือกำไรแค่ไร่ละ 800 บาท
นอกจากรายได้ดีกว่าทำนา ดินยังดีกว่าแต่ก่อนที่เหยียบลงดินในนาข้าว หน้าดินจะมิดแค่หลังเท้า แต่หลังเปลี่ยนมาปลูกถั่วเขียวปีที่ 2 หน้าดินนุ่ม เหยียบลงไปยุบถึงน่อง ดินส่งสัญญาณให้เรารู้ว่า ฤดูปลูกข้าวนาปีที่จะถึง รากข้าวจะขยายได้ลึกกว้างขึ้น ต้นข้าวสมบูรณ์
“นี่ไม่ใช่คิดเองเออเอง เพราะนาปีที่ผ่านมา ต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายาลดลง เพลี้ยแมลงแทบไม่มี แถมข้าวยังเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 80 ถัง เป็น 100–110 ถังต่อไร่”
แม้ปีหน้ารัฐจะไม่มีโครงการสนับสนุน สมชาย ยืนยันช่วงนาปรังยังจะปลูกถั่วเขียวต่อไป.
เพ็ญพิชญา เตียว