ล็อกสเปกปั่นราคาคันละ7ล.แต่จัดซื้อ17ล. แถมไม่ได้มาตรฐาน-บก.ปปป.แกะรอย3ปี

ตำรวจ บก.ปปป.ประชุมเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ เอาผิดขบวนการฮั้วประมูลรถขยะ-รถดูดโคลนครั้งใหญ่ ล็อกสเปกขายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบความผิดแล้ว 33 อปท. ส่ง ป.ป.ช.ดำเนินการแล้วบางส่วน แฉพฤติกรรมสุดแสบต้นทุนคันละ 7 ล้านบาท ผ่านขั้นตอนจัดซื้อ-จัดจ้าง จบที่ราคา 17-19 ล้านบาท เรื่องแดงเพราะคดีลอบยิงปลัด อบต.ไทรน้อย บาดเจ็บ เมื่อปี 58 หลังเจ้าตัวร้อง ป.ป.ช. ถึงพฤติกรรมฉ้อฉลการจัดซื้อรถดูดโคลน ก่อนตำรวจบก.ปปป.ขยายผล พบข้อมูลการโกงในหลายพื้นที่

ที่ห้องประชุม บก.ปปป. ชั้น 4 ศูนย์ราชการ อาคารบี เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 เม.ย. พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เป็นประธานการประชุม “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ” หรือทุจริตฮั้วประมูล มี พ.ต.อ.จักร เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. พ.ต.อ.วรายุทธ สุขวัฒน์ รอง ผบก.ปปป. พร้อมตัวแทนจาก 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กองทัพภาคที่ 1 กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง ตำรวจ บก.ป บก.ปอศ. และ บก.ปอท.

หลังการประชุม พล.ต.ต.กมลเผยว่า ที่ผ่านมา บก.ปปป. พร้อมเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ร่วมกันตรวจสอบการฮั้วประมูลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปแล้ว 2 ลอต โดยลอตที่ 1 ขายรถดูดโคลนและรถขยะอัดท้ายให้หน่วยงานของรัฐ ลักษณะเป็นการล็อกสเปก ทั้งนี้ บก.ปปป.ดำเนินคดีรวม 21 อปท. ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไปแล้ว 20 อปท. เหลืออีก 1 อปท. อยู่ระหว่างดำเนินการ

...

ด้าน พ.ต.อ.จักรกล่าวว่า ในลอตที่ 2 มี 12 อปท.ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี ทั้งหมดมีพฤติกรรมคล้ายลอตแรก ขายรถดูดโคลนให้หน่วยงานรัฐ ในลักษณะบริษัทตัวแทนจำหน่ายไม่ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนด รวมทั้งรถดูดโคลนไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน บก.ปปป. รวมทั้งเตรียมประสานผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีรายชื่อพบทุจริตฮั้วประมูล มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ในฐานะผู้เสียหาย หลังจากนั้นคณะทำงานจะเรียกข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาสอบสวนเพื่อแจ้งข้อหา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ม.157 ส่วนบริษัทเอกชนที่ร่วมทุจริต จะแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันสนับสนุนการฮั้วประมูล พ.ร.บ.ฮั้วประมูล

“สำหรับการตรวจสอบธุรกรรมการเงิน จะให้เจ้าหน้าที่ ปปง. เข้าตรวจสอบเพื่อเอาผิดระดับหัวหน้าหน่วยงาน เบื้องต้นกรมการค้าภายในให้ข้อมูลรถดูดโคลนและรถขยะอัดท้าย ราคาต้นทุนจากโรงงานราคาประมาณคันละ 7 ล้านบาท บวกกำไรและภาษีที่ตัวแทนจำหน่ายนำมาขายอยู่ที่ประมาณคันละ 11-12 ล้านบาท แต่ขบวนการฮั้วประมูลกลับตั้งราคาขายให้กับ อปท. คันละ 17-19 ล้านบาท ปกติการจับกุมขบวนการฮั้วประมูลตรวจสอบได้ยากมาก แต่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญในการปราบปรามทุจริต จึงสามารถประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจนพบพฤติกรรมการกระทำความผิดได้อย่างชัดเจน” พ.ต.อ.จักรกล่าว

มีรายงานว่าจุดเริ่มต้นการตรวจสอบการทุจริตฮั้วประมูลงบประมาณ อปท. เริ่มมาจากเหตุการณ์คนร้ายขับรถยนต์ประกบลอบยิงใส่รถยนต์ของนายไพรัตน์ วิพัฒน์ครุฑ ปลัด อบต.ไทรน้อย จ.นนทบุรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) จนเจ้าตัวบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 2 ก.พ.58 หลังจากนั้นชุดคลี่คลายคดีสืบสวนพบชนวนเหตุเกิดจากนายไพรัตน์ ไปร้อง ป.ป.ช. เรื่องการจัดซื้อรถดูดโคลนราคา 17 ล้านบาท ส่อไปในทางทุจริต จากนั้น พ.ต.อ.จักร เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผกก.หน.พงส. บก.ปปป. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาลงไปตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของ อบต.ไทรน้อย กระทั่งพบพฤติกรรมการทุจริตของ อปท.ในหลายพื้นที่ดังกล่าว