คณะกรรมการพิจารณาค่าเสียหายทางแพ่งคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯระบุมูลค่าความเสียหายกรณีฆ่าเสือดำ 12 ล้านบาทเศษ เมื่อรวมมูลค่าความเสียหายกรณีไก่ฟ้าหลังเทาและหมูป่าเข้าไป ยังไม่ถึง 13 ล้านบาท รองอธิบดีกรมอุทยานฯยอมรับไม่สามารถฟ้องเรียกค่าความเสียหายทางระบบนิเวศเพราะไม่มีผลวิจัยทางวิชาการรองรับ อัยการเผยสั่งสอบเพิ่มเติมครั้งที่สอง เพราะตำรวจสอบสวนไม่ครบถ้วนตามที่สั่งไว้ คาดตำรวจไม่เข้าใจเนื้อหาที่สั่งสอบเพิ่ม “ศรีวราห์” เผยรู้อยู่แล้วอัยการต้องสั่งสอบเพิ่มเติมอีก ยืนยันสำนวนไม่อ่อน ส่วน “เปรมชัย” กับพวกมารายงานตัวต่อศาลตามนัด อัยการยื่นฝากขังต่อเป็นครั้งที่ 5

ยังเป็นเรื่องสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องคดีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 4 คน เข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ถูกดำเนินคดี 9 ข้อหา แต่พนักงานอัยการสั่งสอบเพิ่มเติมและพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนสอบเพิ่มเติมให้อัยการไปแล้ว ขณะที่การตรวจสอบค่า เสียหายต่อระบบนิเวศเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่พนักงานอัยการสั่งสอบเพิ่มเติม ยังหาข้อยุติไม่ได้แม้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ จะระบุค่าชีวิตเสือดำราว 3 ล้านบาทเศษ สอดคล้องกับที่ รอง ผบ.ตร. เคยระบุไว้ แต่สังคมเห็นว่าน้อยเกินไป

...

ความคืบหน้าการดำเนินคดีเอาผิดแก๊งพรานไฮโซล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 26 มี.ค. นายเปรมชัย กรรณสูต นายยงค์ โดดเครือ นางนที เลียมแสน และนายธานี ทุมมาศ ผู้ต้องหาในคดีล่าสัตว์ป่า พร้อมทนายความ เดินทางมาที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เข้าไปในห้องพิจารณาคดีชั้นสอง เพื่อรายงานตัวต่อศาลครั้งแรกเนื่องจากครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 4 โดยพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 5 มีกำหนด 12 วัน ศาลได้นัดรายงานตัวครั้งต่อไปเช้าวันที่ 9 เม.ย. จากนั้นทนายความกล่าวเพียงสั้นๆ ด้วยโดยบอกเพียงสั้นๆ ว่ามาแค่รายงานตัวเท่านั้น ส่วนนายเปรมชัยกับพวกไม่ยอมให้สัมภาษณ์เดินขึ้นรถตู้ฮุนไดเดินทางกลับทันที

ที่สำนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี นายสมเจตน์ อำนวยสวัสดิ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 7 ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานคดีนายเปรมชัยกับพวกล่าสัตว์ป่า พร้อมคณะทำงานประกอบด้วย นายทนง ตะภา อัยการจังหวัดทองผาภูมิ พ.ต.ท.อำนาจ สุจริตชัย รองอัยการจังหวัดกาญจนบุรี และนายกฤษฎา ชูโต รองอัยการจังหวัดทองผาภูมิ ร่วมพิจารณาสำนวนสอบสวนคดีดังกล่าวเพื่อสรุปความคืบหน้ารายงานต่ออธิบดีอัยการภาค 7 โดยก่อนเข้าประชุม นายสมเจตน์ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบเพิ่มเติมกลับมาแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตามที่สั่งไป ตำรวจอาจไม่เข้าใจเนื้อหาของการสอบสวนตามคำสั่งพนักงานอัยการ ทำให้ยังไม่สามารถสั่งคดีได้

นายสมเจตน์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่อัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติมเหลืออีกนิดเดียวเท่านั้นแต่ไม่สามารถบอกได้ ซึ่งได้สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมครั้งที่สองแล้ว และจะให้อัยการจังหวัดทองผาภูมิ ประสานงานทางวาจากับพนักงานสอบสวนด้วยเพื่อความรวดเร็ว และสามารถทำความเข้าใจได้ว่าสิ่งที่อัยการต้องการเพิ่มเติมคืออะไร ตนยังคิดเหมือนเดิมที่เคยพูดไว้ว่าคดีนี้เป็นแค่คดีเล็กๆ แต่ว่าเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ เพราะการกระทำนั้นไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของเสือดำที่กำลังลดน้อยลงและผู้ต้องหาเป็นบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในสังคมเท่านั้น

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า กรณีอัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 ยังไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการมาถึงพนักงานสอบสวน การที่อัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติมถือเป็นเรื่องปกติที่คาดไว้แล้ว เพราะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพิ่งส่งรายงานเพิ่มเติมเรื่องผลการตรวจพิสูจน์และเรื่องค่าเสียหาย โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งรายงานชิ้นนั้นให้อัยการแล้วเมื่อช่วงเช้า สำหรับค่าเสียหายทางเเพ่งทั้งหมดเกือบ 13 ล้านบาท ที่มีกระแสข่าวสำนวนอาจจะมีช่องโหว่เรื่องกระสุนปืน ขอชี้แจงว่ากรณีนี้ปืนไม่มี ร่องเกรียว จะให้ยืนยันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ดีเอ็นเอที่มีด ที่เขียง สามารถยืนยันการกระทำความผิดได้ ยืนยันสำนวนไม่อ่อน การที่บุคคลออกมาตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ บุคคลเหล่านั้นมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ มีส่วนได้เสียหรือไม่ ออกมาตั้งข้อสังเกตกันไปเรื่อยเปื่อย สงสัยว่างงานกัน คนที่มีหน้าที่คือพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ดังนั้น ควรรอดูผลของพนักงานอัยการ ส่วนสำนวนของ บก.ปทส. และ บก.ปปป. ตนได้สั่งการให้สำนวนแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มี.ค.

ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะกรรมการพิจารณาคิดคำนวณค่าเสียหายทางแพ่ง กรณีนายเปรมชัย กรรณสูตร กับพวกล่าสัตว์ป่า ประกอบด้วย นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นประธาน โดยมี น.ส.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายเพ็ญวิชญ์ ศรีชัย ผอ.กองนิติการ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า น.ส.ดาราพร ไชยรัตน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ นายสัตวแพทย์ (น.สพ.) ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ชำนาญการ เป็นกรรมการ และนายสมปอง ทองสีเข้ม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ เป็นกรรมการและเลขานุการ ร่วมประชุมเพื่อพิจารณามูลค่าความเสียหายทางแพ่งจากการกระทำความผิดดังกล่าว

...

จากนั้นนายจงคล้ายเปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลนิเวศของเสือดำ พบว่าเสือดำมีอายุสูงสุดประมาณ 18 ปี ค่าเฉลี่ยอายุคือ 12 ปี เสือดำเพศเมียเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2.5-3 ปี ในวงจรชีวิตหนึ่งจะให้ลูกได้ประมาณ 8 ตัว เสือดำที่ตายเป็นเพศเมีย อายุ 3-5 ปี ราคาซื้อขายทั่วไปประมาณ 2,550,000 บาท เมื่อเทียบเคียงกับโครงการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมเสือโคร่ง เพื่อคืนสู่ถิ่นกำเนิดในธรรมชาติ บริเวณพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน และกลุ่มป่าอนุรักษ์อื่นๆ ประจำปีงบประมาณ 2558 สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี ประกอบกับการปล่อยสัตว์ป่าคือสู่ธรรมชาติของกรมอุทยานฯมีอัตรารอดตายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อคิดมูลค่าตั้งแต่เสือดำตัวเล็กๆ การฝึก ค่าอาหาร ยารักษาโรคเป็นเวลา 5 ปี กระทั่งปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ มีการสรุปความเสียหายของเสือดำรวมทั้งสิ้น 12,750,000 บาท

รองอธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวต่อว่า ส่วนมูลค่าความเสียหายของไก่ฟ้าหลังเทาอยู่ที่ 25,224 บาท มูลค่าความเสียหายของหมูป่าอยู่ที่ 22,500 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทางแพ่งในคดีทั้งสิ้น 12,797,724 บาท แต่ยังไม่รวมค่าเสียหายทางระบบนิเวศจากการสูญเสียสัตว์ป่าทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากยังไม่มีผลงานวิจัยทางวิชาการรองรับ ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แสดงว่าไม่สามารถเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ใช่หรือไม่ นายจงคล้ายยอมรับว่า ยังไม่สามารถเรียกร้องในส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ก็จะต้องจัดทีมงานเพื่อทำเรื่องนี้แล้ว โดยจะเอาสัตว์ตัวที่มีความเสี่ยงถูกคุกคามมากที่สุด ว่าเมื่อสัตว์พวกนี้ถูกล่าแล้วจะเกิดผลกระทบ มีค่าความเสียหายทางระบบนิเวศอย่างไร มูลค่าเท่าใด สัตว์ที่จะต้องศึกษา คือ หมี เสือ ช้าง เก้ง กวาง ไก่ฟ้าทุกชนิด เป็นต้น

...

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า กรมอุทยานฯเคยฟ้องร้องชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่า 10 ไร่ เรียกค่าเสียหายมูลค่า 10 ล้านบาท แต่ศาลยกฟ้อง โดยมีการตั้งคำถามกันว่า ตัวเลขดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร จับต้องได้หรือไม่ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นคิดกันอย่างไร เป็นที่มาของการที่กรมอุทยานฯต้องไปทำวิจัยเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ต่างๆนำมาประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่า เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 แสนบาทต่อไร่ เป็นค่ามาตรฐาน มีหลายฝ่ายทั้งเอ็นจีโอและองค์กรต่างๆตั้งคำถามว่า ทำไมเสือดำราคาถูกมาก ทำไมไม่เรียกไปสัก 300 ล้านบาท หรือ 1,000 ล้านบาท อยากจะเรียนว่า อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่มีงานวิชาการรองรับ เราใช้กับทุกคนที่ทำผิด การที่เราเรียกความเสียหายจากการที่เสือดำตัวหนึ่งถูกฆ่าตายในราคา 12 ล้านก็ไม่ใช่น้อยเลย

ขณะเดียวกัน นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมนายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิฯ และทีมงานจัดรายการเฟซบุ๊กไลฟ์ สรุป-วิเคราะห์ก่อนจะขึ้นศาลคดีเสือดำ โดยนายศศินกล่าวมีใจความว่า การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับนายเปรมชัยจะเป็นบรรทัดฐานในอนาคตหากชาวบ้านเข้าไปล่าสัตว์ในป่าอนุรักษ์ หากสามารถเอาผิดทั้งคดีอาญาและคดีทางแพ่งได้ เชื่อว่าจะสามารถลดการเข้าไปล่าสัตว์ป่าได้ ซึ่งคดีน่าจะขึ้นสู่ศาลชั้นต้นได้ในช่วงเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อแสดงการไม่ยอมรับต่อการทำผิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น อาจจะเป็นการเดินให้กำลังใจ “เดินเสือดำ” เพื่อให้กำลังใจและแสดงออกว่าเราเชื่อมั่นในกระบวนการศาลและกระบวนการยุติธรรม

นายศศินให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ก่อนที่คดีนี้จะเข้าสู่กระบวนการศาลทางมูลนิธิสืบฯจะมีเดินรณรงค์เพื่อให้กำลังใจกระบวนการยุติธรรม เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมว่าจะสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ และขอย้ำว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ได้เป็นการกดดันศาล แต่เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่จะแสดงออกหรือสนับสนุนในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนเส้นทางเดินรณรงค์นั้น อาจเดินรณรงค์ภายในพื้นที่ กทม. หรือเดินจาก กทม. ไปศาลจังหวัดทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ส่วนตัวเป็นห่วงว่าสังคมมีความกังวลคดีดังกล่าวนายเปรมชัยอาจได้รับโทษเพียงแค่รอลงอาญาเท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับกระแสสังคมว่าจะยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน และมูลนิธิสืบฯก็จะอยู่เคียงข้างประชาชนต่อไป

...