(ภาพประกอบ จากยูทูบ)

ทีมนักวิทยาศาสตร์นาซา เร่งทำงานหาวิธีหยุดยั้งไม่ให้ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ‘เบนนู’ พุ่งชนโลก ที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายย่อยยับ รวมทั้งแผนส่งจรวดติดนิวเคลียร์ขึ้นไปทำลาย

เมื่อ 25 มี.ค. 61 เว็บไซต์ Metro รายงานว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์จากทีมปกป้องดาวเคราะห์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) กำลังทำงานเพื่อหาวิธีหยุดยั้งไม่ให้ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ ‘เบนนู’ (Bennu) พุ่งชนโลกในปี ค.ศ.2135 หรือ พ.ศ.2678 หรือ 117 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่โลกมหาศาล มีคนล้มตาย เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ข่าวแจ้งว่า ทีมนักวิชาการจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (Lawrence Livermore National Laboratory) ได้เผยแพร่ตีพิมพ์ผลการศึกษา ชิ้นที่ 2 เพื่อมุ่งหาวิธีที่จะหยุดยั้งดาวเคราะห์น้อยเบนนูไม่ให้ชนโลก ซึ่งได้ข้อสุรปว่า นาซาไม่สามารถใช้ยานอวกาศที่สร้างขึ้นมาใหม่ผลักดันให้ดาวเคราะห์น้อยเบนนูเปลี่ยนเส้นทางโคจร เพื่อที่จะได้ไม่พุ่งชนโลกได้ จึงทำให้ตอนนี้ ทีมนักวิชาการดังกล่าวกำลังวิจัยขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับรายละเอียดของการใช้ ‘นิวเคลียร์’ ด้วยการส่งจรวดติดอาวุธทำลายล้างสูงขึ้นไปยิงทำลายดาวเคราะห์น้อยเบนนู ก่อนจะพุ่งชนโลก

เว็บไซต์ Metro ได้รับทราบว่า การวิจัยอย่างต่อเนื่องถึงการใช้จรวดติดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นไปยิงดาวเคราะห์น้อยเบนนูนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และเตรียมจะถูกตีพิมพ์ลงในวารสารด้านวิชาการฉบับหนึ่ง ขณะที่ผลการศึกษาวิจัยที่เผยแพร่ออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุด้วยว่า ยานอวกาศของนาซา ที่เรียกว่า HAMMER (แฮมเมอร์) ได้ถูกออกแบบสำหรับปฏิบัติการผลักดันดาวเคราะห์น้อยเบนนูเข้าสู่วงโคจรใหม่ รวมทั้งการทำลายดาวเคราะห์น้อยดวงนี้โดยอานุภาพของนิวเคลียร์

...

จากผลการวิจัยชี้ว่า ยานอวกาศแฮมเมอร์จะไม่สามารถผลักดันดาวเคราะห์น้อยเบนนูให้เปลี่ยนเส้นทางโคจรได้ หากยานอวกาศลำนี้ไม่ถูกยิงขึ้นสู่ห้วงอวกาศภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า ก่อนจะถึงกำหนดวันที่ดาวเบนนูอาจชนโลก หรือจะมีการส่งยานอวกาศหลายสิบลำขึ้นในอวกาศช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อยเบนนู มีความกว้าง 500 เมตร หรือเท่ากับขนาดของสนามฟุตบอล 5 สนาม และมีน้ำหนัก 79,000 กิโลกรัม โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยเบนนูจะพุ่งชนโลกในวันที่ 25 ก.ย. 2135 นั้น อยู่ที่ 1 ใน 2,700 ซึ่งคาดว่าหากดาวเคราะห์น้อยเบนนูชนโลกจริงจะก่อให้เกิดพลังงานถึง 1,200 เมกะตัน หรือคิดเป็นพลังงานที่มากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 80,000 เท่า.