พระธาตุหมากโม..ที่วัดวิชุนราช.
ขออนุญาตยืมชื่อภาพยนตร์รักหวานๆของหนุ่มไทยกับสาวลาว ที่ออกฉายเมื่อ 10 ปีก่อน จนทำให้ “หลวงพระบาง” เมืองมรดกโลกที่ราวกับอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย เมื่อเทียบกับเวียงจันทน์ในช่วงหลายปีก่อน กลายมาเป็นเมือง
ที่อยู่ในหัวใจของทั้งคนไทยและฝรั่ง ที่ต่างพากันเดินทางมาสัมผัสวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เรียบง่าย เงียบงาม ในเมืองหลวงเก่าของ สปป.ลาวแห่งนี้
กิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ของการเยือนหลวงพระบางที่ห้ามพลาด ก็คือ การตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืด พระ เณร จากวัดต่างๆในหลวงพระบางจะพากันเดินบิณฑบาตไปตามถนนสายต่างๆ ข้าวเหนียวร้อนๆที่ถูกอัดแน่นมาในกระติ๊บใบเขื่อง งานนี้ “ป้าสมจิต” ไกด์ลาวที่ถือว่ามากประสบการณ์ และเต็มไปด้วยความสามารถในการบรรยายเล่าเรื่อง จัดเตรียมทั้งกระติ๊บข้าว ผ้าพาดไหล่ สไตล์คนลาว ที่แสดงถึงความเคารพในพิธีบุญอันศักดิ์สิทธิ์ไว้พร้อมสำหรับชาวคณะผู้บริหารไทยรัฐ ที่นานๆ ครั้งจะได้ทำบุญร่วมกันอย่างพร้อมเพรียงเช่นนี้
...
แม้จะเป็นช่วงปลายหนาวเข้าสู่หน้าแล้ง แต่ลมแล้งแห่งหลวงพระบาง ยังไม่พัดเอื่อยเรื่อยเย็นเท่าไหร่นัก ทำให้หลายคนรู้สึกสบายดี เหมือนคำทักทายของชาวลาว ที่เวลาทักทายจะใช้คำว่า สะ-บาย-ดี แทนคำว่า สวัสดี
เช้านี้ หลายคนนอกจากจะไม่อาบน้ำอาบท่าแล้ว ยังมีเสื้อผ้าสไตล์คนลาว ที่คล้ายๆกับผ้าเมืองเหนือที่ขายในเมืองน่านของบ้านเรา ที่ต่างซื้อจากถนนคนเดินใกล้โรงแรมที่พักเมื่อคืนก่อน สวมใส่มาใส่บาตร ให้ดูกลมกลืนกับชาวลาวเขาเสียด้วย
ใส่บาตรเสร็จ พวกเราก็ไปทานอาหารเช้ากันในห้องอาหารของโรงแรม ที่มีทั้งอาหารแบบฝรั่งคอนติเนนตัล และเฝอลาว ที่คล้ายๆกับเวียดนาม เป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ ที่มีสไตล์ของน้ำซุปหอมๆ หวานๆ เสิร์ฟพร้อมผักสด คล่องคอดีเหมือนกัน
มาถึงหลวงพระบางแล้ว ก็ต้องไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง ที่แรกที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือ วัดเชียงทอง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของหลวงพระบาง มีอายุมากกว่า 400 ปี สร้างโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
สิม หรือ อุโบสถ ของวัดนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว รูปแบบที่มองเห็น คือ มีหลังคาแอ่นโค้งซ้อนกันสามชั้น ส่วนกลางของหลังคามีเครื่องยอดสีทอง หรือช่อฟ้า 17 ช่อ หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง ผนังเป็นลวดลายปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ มีภาพพุทธประวัติ และพระเจ้าสิบชาติ ผนังด้านหลังเป็นรูปต้นทองประดับด้วยกระจกสี ข้างต้นทองเป็นนิทานพื้นบ้าน ด้านในอุโบสถประดิษฐาน พระองค์หลวง หรือพระประธาน
ข้างๆอุโบสถเป็นที่ตั้งของ วิหารน้อย หรือ วิหารแดง ผนังด้านนอกประดับด้วยกระจกสี เรื่องราวนิทานพื้นบ้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์
...
สำหรับวิหารแดงนี้ มีกิจกรรมที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว 2 อย่าง คือ การอธิษฐานยกพระเสี่ยงทาย ที่ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ เราเองลองยกพระอธิษฐานดู ยก 2 ครั้ง อธิษฐานสลับกัน ยืนยันว่าสำเร็จ แค่นี้ก็ชื่นใจหลายๆ
ส่วนอีกกิจกรรม คือ การถ่ายรูปตรงหน้าต่างของวิหาร ถือเป็นจุดไฮไลต์ที่ป้าสมจิตบอกกับพวกเราว่า นางเอกละครชื่อดัง “ญาญ่า” ก็ถ่ายภาพซีนนี้ในช่วงที่มาเที่ยวลาวด้วย เท่านั้นละ สาวใหญ่ไทยรัฐหลายคนต่อคิวแชะกันทันที
การมาเยือนหลวงพระบางคราวนี้ นอกจาก การเดินทางที่สะดวก โดยการจัดการของ บริษัท ซี.เค. พาวเวอร์ เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าไชยะบุรีแล้ว เรายังได้มีโอกาสสักการะ “พระม่าน” ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ โดยปกติแล้ววิหารที่ประดิษฐานพระม่านจะไม่เปิดให้คนทั่วไปได้กราบไหว้ คนสามารถมองเห็นองค์พระได้จากช่องเล็กๆที่ประตู ซึ่งมีม่านบังไว้ โดยคนลาวจะมีโอกาสได้เห็นแค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่ครั้งนี้พวกเราโชคดี ที่ท่านรักษาการเจ้าอาวาสวัดเชียงทอง เมตตาเปิดวิหารให้ได้เข้าไปกราบองค์พระม่านอย่างใกล้ชิด ทั้งยังได้สวดพระพุทธมนต์เป็นการบูชาอีกด้วย
...
เยื้องกับอุโบสถ เป็นที่ตั้งของ โรงเมี้ยนโกศ ซึ่งเป็นที่เก็บราชรถพระโกศของ เจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนา สร้างโดยช่างเอกชาวหลวงพระบาง ด้านหน้าเป็นภาพแกะสลักทาสีทองเหลืองอร่ามเรื่องรามเกียรติ์
อีกวัดที่ไม่ไปไม่ได้ คือ วัดวิชุนราช หรือ วัดพระธาตุหมากโม เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของหลวงพระบาง อายุประมาณ 500 ปีเศษ สร้างในสมัยพระเจ้าวิชุนราช เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบาง เป็นวัดสำคัญที่เจ้ามหาชีวิตจะต้องมาบวชก่อนขึ้นครองราชย์
วัดนี้เคยถูกพวกฮ่อเผาทำลายเมื่อปี พ.ศ.2343 ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ภายในวัดมี เจดีย์ปทุม หรือ พระธาตุดอกบัวใหญ่ รูปทรงคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง ชาวลาวเรียกว่า พระธาตุหมากโม พระอัครมเหสีของพระเจ้าวิชุนราชโปรดฯให้สร้างขึ้น เพื่อให้ระลึกถึงคุณของผู้หญิง เพื่อยกฐานะของสตรีในสังคมยุคนั้นไม่ให้ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างหนักหนาสาหัส
...
อีกที่คือ หอคำ หรือ หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ที่เดิมเป็นพระราชวังเก่า ลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสผสมล้านช้าง เคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ พระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชอาณาจักรลาว ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลลาวได้บูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง และยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระบาง” พระพุทธรูปเนื้อทองคำ ปางห้ามสมุทร สูง 83 ซม.พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของหลวงพระบางด้วย
เราอำลาเมืองมรดกโลกเล็กๆที่ใกล้ชิดติดไทย ด้วยกาแฟขม และขนมหวาน อย่างบราวนีที่ได้ชื่อว่าเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน JOMA จุดเช็กอินแห่งใหม่ในหลวงพระบางของเหล่านักท่องเที่ยว Gen Y
การเดินทางสู่หลวงพระบางวันนี้ ถือว่าสะดวกง่ายดาย จะบินตรงจากไทยก็มีหลายสายการบินให้เลือก หรือจะนั่งรถบัสจากจังหวัดน่านก็มีรถบัสแล่นตรงเข้าสู่หลวงพระบางโดยตรง ถ้ามีเวลาพอจะนั่งเรือล่องแม่น้ำโขงมายังจุดตัดแม่น้ำสองสี คือ แม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน...ก็คลาสสิกและโรแมนติกไปอีกแบบ
แต่ที่แน่ๆ แม้วันนี้ผู้คนมากหน้าหลายตา จะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมายังหลวงพระบางอย่างไม่ขาดสาย แต่การคงไว้ซึ่ง ของเดิม อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ยังคงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้คนแวะเวียนมา เติมเต็มความอุ่นในหัวใจอยู่เสมอ.